ยังเป็นประเด็นปัญหาสำหรับการกำหนดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตามร่างประกาศคณะกรรมการว่า ด้วยสัญญาเกี่ยวกับเรื่องเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สรุปประเด็นจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเสนอต่อสคบ.แล้ว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 คณะทำงานของสคบ.ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว (รถมือสอง) และสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทย ซึ่่ง 3 สมาคมได้เสนออัตราดอกเบี้ยสำหรับรถยนต์ใหม่ 15% ต่อปี รถยนต์ใช้แล้ว 20% ต่อปีและรถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ 30% ต่อปี
แหล่งข่าวจากสมาคมเกี่ยวข้องกับธุรกิจเช่าซื้อเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อเสนอของ 3 สมาคมล่าสุด เป็นผลต่อเนื่องจากการที่คณะทำงานของสคบ.จะกดเพดานดอกเบี้ยมอเตอร์ไซด์ที่ 20% ต่อปี ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเช่าซื้อในวงกว้าง จึงเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับต้นทุนต่อธปท.และคณะทำงานสคบ.ไปแล้ว แต่สมาคมที่เกี่ยวข้องฯ ไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมกับ สคบ.
นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการศึกษาและพิจารณาข้อสัญญาและรายการในหลักฐานการรับเงินของสคบ.จะประชุมในวันที่ 22 มิถุนายน เพื่อพิจารณาข้อเสนอจากสมาคมดังกล่าว ซึ่งคงเหลือประเด็นเพดานดอกเบี้ยสำหรับมอเตอร์ไซด์ โดยปัจจุบันยังมีประเด็นเห็นต่างกันระหว่างคณะทำงานกับผู้ประกอบการ
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาที่ผ่านมา คณะทำงานได้บวกต้นทุนและกำไรแล้ว ทำให้อัตราดอกเบี้ยเริ่มใกล้เคียงกันมากขึ้นและได้เปลี่ยนแปลงอัตราจากก่อนหน้านี้ที่จะกำหนดเพดานที่ 15% แต่ยังมีส่วนต่างดอกเบี้ยในส่วนเหลื่อมกันไม่มากราว 2-3%
“หากดอกเบี้ยยังไม่ลงตัวอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติม เพราะประกาศที่จะออกมาต้องเป็นประโยชน์และเป็นธรรมกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ นอกจากนี้คณะอนุกรรมการศึกษาจะต้องพิจารณาหารือในประเด็น คืนรถจบหนี้ด้วย แต่หากพอใกล้เคียงกับฝั่งผู้ประกอบการอาจจะไม่เกิดประโยชน์มากนัก” นายธสรณ์อัฑฒ์กล่าว
ส่วนขั้นตอนการออกประกาศนั้น ถ้าผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาแล้ว จะเสนอคณะกรรมการกฤษฏีกาเพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหลังจากประกาศลงในราชกิจจาฯ แล้วจะกำหนดช่วงระยะเวลาประมาณ 90 วันให้มีผลบังคับใช้ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะประกาศจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้
นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยกล่าวว่า คณะทำงานได้เสนอต้นทุนไปยังธปท.และคณะทำงานสคบ.แล้ว แต่ยังไม่นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ของสคบ. ซึ่งคาดว่า จะนำเข้าที่ประชุมบอร์ดใหญ่สคบ.ปลายเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนผลที่ออกมาจะกระทบมากหรือน้อยขึ้นกับสคบ.จะเคาะเพดานอัตราไหน จะให้มาร์จิ้นผู้ประกอบการเท่าไร
นายมงคล เพียรพิทักษ์กิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัดในฐานะนายกสมาคมธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไทยกล่าวว่า สมาคมฯ มีสมาชิกเพียง 9 รายหลัก แต่ครองสัดส่วนสินเชื่อกว่า 50% ของยอดขายรถที่ใช้เช่าซื้อประมาณ 1.2 ล้านคัน และอีก 50% เป็นการเช่าซื้อกับผู้ประกอบการหรือไฟแนนซ์ท้องถิ่น ซึ่งข้อมูลตรงนี้แหละที่ไม่ได้นำส่งทางการ ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการนอกระบบมีจำนวนมากและยากต่อการเก็บรวบรวมข้อมูล
“เราเป็นช่องทางช่วยลูกค้าฐานรากอยู่แล้ว ทั้งในแง่ที่ต้องการใช้วงเงินสินเชื่อและผ่อนปรนการผ่อนชำระตามความสามารถ เพื่อไม่ให้เขาไปกู้นอกระบบ ที่ผ่านมาคิดดอกเบี้ย Effective Rate 32-35% ต่อปี ถ้าเฉลี่ยต่อเดือนขณะนี้คิดกันแค่ 1.5-1.8% จากก่อนหน้าที่คิด 1.99% ต่อเดือน ซึ่งดอกเบี้ยที่จะประกาศใช้ก็ต้องรอสคบ. รวมถึงหารือเรื่องติ่งหนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปด้วย” นายมงคลกล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,793 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565