EA เสริม"อีวี"รุ่นเล็กราคาต่ำล้าน

15 มิ.ย. 2562 | 02:55 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2562 | 09:59 น.

“ไมน์”ในเครือบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ฯ หรือ EA พร้อมเสริมทัพ “อีวี”รุ่นใหม่เจาะกลุ่มซิตีคาร์ใช้แบตเตอรี่ขนาดตํ่ากว่า30กิโลวัตต์ ชั่วโมง กดราคาขายไม่ถึง 1 ล้านบาท เล็งเปิดตัวต้นปีหน้าส่วนโรงงาน แบตเตอรี่เริ่มเดินเครื่อง ปลายปีนี้

ค่ายรถพลังงานไฟฟ้าสัญชาติไทย ไมน์ โมบิลิตี คอร์ปอเรชั่น (MMC) ในเครือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่ประเดิมขาย “อีวี”รุ่นแรก ด้วยรถอเนกประสงค์สไตล์มินิเอ็มพีวี “สปา1” ราคาประมาณ 1.2 ล้านบาท โดยรถพร้อมส่งมอบให้ลูกค้าภายในไตรมาสแรกปีหน้า

ล่าสุดมีความชัดเจนว่า “ไมน์” พร้อมเสริมทัพรถพลังงานไฟฟ้าที่ตัวถังขนาดเล็กลง หรือเป็นรถในกลุ่มซิตีคาร์ คาดเปิดตัวไตรมาสแรกปีหน้า (หลังเคยนำต้นแบบมาอวดโฉมตั้งแต่ปี 2561 แล้ว)

ทั้งนี้ เพื่อทำราคาให้คนไทยเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น ซิตีคาร์พลังงานไฟฟ้า100% รุ่นใหม่ของไมน์ จะใช้ชุดแพ็กแบตเตอรี่ขนาดเล็ก หรือตํ่ากว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงที่ใช้กับรุ่น “สปา1”

นั่นทำให้การชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง ระยะทางที่วิ่งได้จะตํ่ากว่า 200 กิโลเมตร แต่ “ไมน์” เชื่อว่านี่เป็นตัวเลขที่เพียงพอสำหรับการใช้งานในเมืองหรือขับขี่ในชีวิตประจำวันแบบไป-กลับ บ้านที่ทำงาน EA เสริม\"อีวี\"รุ่นเล็กราคาต่ำล้าน

 

 

โดยตัวถังมีขนาดประมาณรถยนต์นั่งระดับซับคอมแพ็กต์ พร้อมโครงสร้างที่ขึ้นรูปจากวัสดุอะลูมิเนียม และคอมโพสิต ช่วยให้รถมีนํ้าหนักเบา ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงราคาขายจะไม่เกิน 1 ล้านบาทแน่นอน

“ตัวขายจริงโมเดลแรกของเราคือ สปา 1 ตัวต่อไปคือรุ่นซิตีคาร์ 4 ประตู ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท” นายธีระพล วงศ์เลิศพิชิต ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคและบริการ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด ในเครือEA กล่าว

ส่วนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน จังหวัดฉะเชิงเทรา จะเริ่มผลิตช่วงปลายปีนี้ เฟสแรกกำลังผลิต 2 กิกะวัตต์ชั่วโมงและเฟส2 เพิ่มเป็น 50 กิกะวัตต์ชั่วโมง ด้านสถานีชาร์จไฟฟ้า EA Anywhere การขยายยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 1,000 สถานี ปัจจุบันทำได้ราว 400 สถานีเท่านั้น

นอกจาก “ไมน์” รถพลังงานไฟฟ้าสัญชาติไทยแล้ว ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ “เอ็มจี” ประกาศชัดเจนว่าเตรียมนำเข้าเอสยูวีรุ่น ZS EV มาเปิดตัวอย่างเป็นทาง การ และพยายามทำราคาไม่ให้เกิน 1.5 ล้านบาท

สำหรับ ZS EV เป็นรถนำเข้ามาจากประเทศจีน และได้สิทธิพิเศษตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี จีน-อาเซียน โดยรถพลังงานไฟฟ้า 100% จะไม่เสียภาษีนำเข้า ส่วนสเปกของรถจะใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 44.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้งรถวิ่งได้ระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร

 

 

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทเริ่มสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการมาของเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ทั้งการจัดเวทีเสวนา และเตรียมความพร้อมของระบบนิเวศในการทำตลาดอีวี เช่น การลงนามบันทึกความเข้าใจกับ EA กับความร่วมมือที่จะดูแลการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อให้ทุกคนเกิดความมั่นใจ เมื่อเอ็มจีเปิดตัว ZS EV รถพลังงานไฟฟ้าสู่เมืองไทยแล้ว จะมีระบบการชาร์จไฟฟ้าที่มีมาตรฐานรองรับ

“ZS EV จะพยายามทำราคาให้น่าสนใจมากที่สุด ซึ่งหลังการเปิดตัวจะมาพร้อมแพ็กเกจการดูแล และการรับประกัน ส่วนแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เรายื่นส่งเสริมการลงทุน ทั้งอีวี ที่กำลังรอการอนุมัติจากบีโอไอ ส่วนปลั๊ก-อินไฮบริด นั้นได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้ว” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ด้านความเคลื่อนไหวของบริษัทรถยนต์อื่นๆที่มีแผนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ว่า มีบริษัทยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในแพ็กเกจ “ไฮบริด” 5 ราย อนุมัติไปแล้ว 4 ราย และ “ปลั๊ก-อินไฮบริด” ยื่นขอ 8 ราย อนุมัติไปแล้ว 4 ราย ส่วน“อีวี” ยื่นขอ 20 ราย อนุมัติไปแล้ว 1 ราย ลงทุนรวม 1,439 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือกว่า 44,000 ล้านบาท) กำลังผลิตรวม 2 แสนคันต่อปี

ทั้งนี้ บีโอไอจะเรียก บริษัทที่สนใจลงทุนในแพ็กเกจต่างๆมาคุยทีละราย หากได้รับการอนุมัติแผนจะต้องมีการผลิตภายใน 3 ปีหลังได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน 

 

 

หน้า 27-28 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,478 วันที่ 13 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2562