"ซีพี"จับ"โฟตอน"ตีรถบรรทุกญี่ปุ่น-ยุโรป

26 พ.ย. 2562 | 04:10 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2562 | 11:06 น.

“ซีพี”จับมือ “โฟตอน” จากจีน ลุยขายรถเพื่อการพาณิชย์ ทั้งรถบรรทุกขนาดเล็ก -กลาง-ใหญ่และ มินิบัส ก่อนปีหน้าเสริมทัพรถโค้ชอีก 1 รุ่น มั่นใจ3 ปีติดท็อปทรี พร้อมตั้งโรงงานประกอบในไทยเพื่อป้อนตลาดในประเทศและส่งออก

แจ้งเกิดอย่างเป็นทางการอีกครั้งสำหรับแบรนด์รถเพื่อการพาณิชย์จากจีน “โฟตอน”หลังจากก่อนหน้านี้ทำตลาดแบบประปรายในกลุ่มปิกอัพและรถตู้ และช่วงหนึ่งเคยนำเข้าโดย ดีเอดี ยนตรกิจ ของวิเชียร ลีนุตพงษ์ อย่างไรก็ตามวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ทุนใหญ่ของไทยอย่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตัดสินใจเซ็นสัญญากับ โฟตอน กรุ๊ป ประเทศจีน

ภายใต้การจับมือของ 2 บริษัท ได้ก่อตั้งบริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท โดยมีแผนการทำตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ส่วนปิกอัพและรถตู้ จะดำเนินงานโดย โฟตอน ออโตโมบิล ประเทศไทย จำกัด

“การจับมือในครั้งนี้ บริษัทแม่ที่จีนจะสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยี รถรุ่นต่างๆ ที่เรานำเข้ามาจำหน่าย และเรามั่นใจว่ารถมีประสิทธิภาพในระดับเวิลด์คลาส เพราะออกแบบโดยเดมเลอร์ ส่วนเครื่องยนต์ใช้คัมมินจากอเมริกา ระบบส่งกำลังจากแซดเอฟ ถือได้ว่าเทียบเท่าแบรนด์ยุโรปแต่ราคาคุ้มค่าต่อการลงทุนมากกว่า ขณะที่ซีพี จะใช้ความแข็งแกร่งด้านเครือข่าย ความสัมพันธ์กับลูกค้า และเงินลงทุน” นายกิรพัฒน์ ชินรังคกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด กล่าว

สำหรับรถที่ทำตลาดมี 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ รถบรรทุก 10 ล้อหัวลากในรุ่น Auman EST มีให้เลือกตั้งแต่รุ่น 380 แรงม้า, 400 แรงม้า และ 430 แรงม้ารถบรรทุก 6 ล้อขนาดกลาง Auman EST M ที่มีให้เลือกทั้งแบบ 12 และ 15 ตัน รถบรรทุกขนาดเล็ก Aumark C ที่มีทั้ง 4 ล้อ และ 6 ล้อ และ มินิบัส Foton AUV Micro bus ราคาเริ่มต้น 1.89 ล้านบาท โดยในกลุ่มนี้ปีหน้าจะนำเข้ารถบัสหรือรถโค้ชเข้ามาเปิดตัวเพิ่มอีก 1 รุ่น

\"ซีพี\"จับ\"โฟตอน\"ตีรถบรรทุกญี่ปุ่น-ยุโรป

“ตอนนี้รถทุกรุ่นพร้อมจำหน่าย ขาดแต่มินิบัสที่กำลังจะเปิดตัวและเปิดให้จองเดือนธันวาคมนี้ ส่วนนโยบายยืดอายุรถตู้ ตรงนี้มองว่าไม่กระทบกับการขาย เพราะเงื่อนไขรายละเอียดสำหรับรถที่จะต่ออายุออกไปต้องมีการตรวจสภาพและปรับปรุงต่างๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเรามองว่าลูกค้าซื้อรถใหม่น่าจะคุ้มค่ากว่า ขณะที่การแข่งขันของตลาดนี้ต้องยอมรับว่าสูง แต่ตลาดค่อนข้างใหญ่ และมีโอกาสเติบโต โดยบริษัทมั่นใจว่าด้วยรูปลักษณ์ สมรรถนะ ราคา จะทำให้ลูกค้าตอบรับดี และเราตั้งเป้าหมายยอดขายมินิบัส 200 คันในปี 2563 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตของบริษัทแม่ที่จีนด้วย”

ขณะที่กลยุทธ์การตลาดจะสื่อสารแบรนด์ผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ ทั้งออฟไลน์ - ออนไลน์และที่เน้นเป็นพิเศษคือเจาะเข้าหากลุ่มเป้าหมายผู้ใช้รถประเภทนี้โดยตรง อาทิ ร่วมกิจกรรมโรดโชว์, เข้าหาสมาคมผู้ขนส่ง โดยจะนำรถไปให้เห็นและทดลองขับ นอกจากนั้นแล้วจะมีไฟแนนซ์ไว้รองรับลูกค้า โดยปัจจุบันมีจำนวน 2 รายและปีหน้าจะเพิ่มอีก 3 ราย

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญ ในการสร้างแบรนด์ ซีพี -โฟตอน ให้เกิดการยอมรับคือ การสร้างเน็ตเวิร์ก ปัจจุบันซีพี-โฟตอน มีเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการ 12 แห่ง ภายในปี 2563 จะมี 20 แห่ง และในอนาคตจะมีการสร้างศูนย์อะไหล่ในแบบ วัน สต็อป เซ็นเตอร์ และจะตั้งศูนย์อบรมบุคลากร ทั้งด้านการขาย,อาฟเตอร์เซลส์ ฝ่ายเทคนิค ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด

ถือเป็นแผนระยะสั้นที่กางออกมา โดยเบื้องต้นในปี 2562 คาดว่าจะมียอดขาย 200 คัน (จากปัจจุบันทำได้ 130 คัน) โดยสัดส่วนการขาย 60% เป็นรถบรรทุกหัวลากขนาดใหญ่ , 30% เป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก และ 10% คือรถบรรทุกขนาดกลาง ซึ่งเป้าที่วางไว้จะทำให้พวกเขาเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มแบรนด์จีนที่ทำตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ในไทย และภายใน 3 ปีตั้งเป้าจะเป็น 1 ใน 3 ที่ทำยอดขายสูงสุดในเซ็กเมนต์รถเพื่อการพาณิชย์ในประเทศไทย

การตั้งเป้าหมายเพื่อขยับอันดับไปสู่ 1 ใน 3 แม้จะไม่ง่าย แต่ซีพี-โฟตอน เชื่อว่าไม่ยากจนเกินไป เพราะตามแผนงานที่วางไว้ ในปี 2565 จะมีการตั้งโรงงาน ในพื้นที่แถบอีอีซี และจะผลิตรถเพื่อพาณิชย์ทุกรุ่นที่จำหน่ายในปัจจุบัน ซึ่งจะไม่ใช่แค่การป้อนตลาดในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมองเห็นโอกาสที่จะส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น เมียนมา, ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย

\"ซีพี\"จับ\"โฟตอน\"ตีรถบรรทุกญี่ปุ่น-ยุโรป

“เรามีแผนงานชัดเจนว่า ในปี 2565 จะตั้งโรงงาน เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ได้สรุปเม็ดเงินลงทุน รวมถึงกำลังการผลิตทั้งหมด แต่โดยเบื้องต้นการจะประกอบรถในประเทศได้นั้น จะต้องมีโวลุ่มหรือปริมาณการขายต่อปีประมาณ 2,500 คัน ส่วนการขึ้นมาติดท็อปทรีนั้น นอกจากทำตามแผนงานที่เราวางไว้แล้วปัจจัยภายนอกอย่างภาพรวมตลาดก็ส่งสัญญาณบวก เพราะจะมี โครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการเมกะโปรเจ็กต์, การเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์หรือการขนส่งต่างๆ, การก่อสร้างทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น” นายกิรพัฒน์ กล่าว

สำหรับตลาดรถบรรทุกในเมืองไทยมียอดขายประมาณ 3 หมื่นคันต่อปี อันดับ 1 คือ อีซูซุ ครองส่วนแบ่งตลาด 50% ส่วนอันดับ 2 คือ ฮีโน่ ครองส่วนแบ่งตลาด 40% 

 

หน้า 28-29 หนังสือพืมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,525 วันที่ 24 - 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562