ตลาดรถจักรยานยนต์ผ่าน 2 เดือนแรกของปี (ม.ค.- ก.พ.64) ทำยอดขายได้ 2.66 แสนคัน ลดลง 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ 2 ค่ายใหญ่ ฮอนด้า-ยามาฮ่า มองภาพไปในทิศทางเดียวกันว่า ตลาดรวมปีนี้ยังทรงตัวประมาณ 1.53-1.54 ล้านคัน หรืออาจจะเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับปี 2563
ปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธุรกิจรถจักรยานยนต์เปลี่ยนไป ตามเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค ขณะที่ตัวโปรดักต์ต้องพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ เช่น ไลน์อัพสินค้าต้องหลากหลาย มีความเฉพาะตัวสไตล์แฟชัน ทั้งออกแนวสปอร์ต หรือย้อนยุค ตลอดจนเทคโนโลยีเพื่อทำชีวิตให้ง่ายขึ้น เช่น เพิ่มช่องชาร์จ USB หรือมีช่องเติมนํ้ามันภายนอก ไม่ต้องเปิดเบาะเหมือนในอดีต รองรับผู้ใช้รถจักรยานยนต์เพื่อการขนส่ง(ไม่ต้องยกกล่องเก็บของลงเมื่อเติมนํ้ามัน)
ส่วนยามาฮ่า เพิ่มแอพลิเคชั่น Y-Connect เชื่อมต่อข้อมูลรถกับสมาร์ทโฟน แสดงสถานะต่างๆของรถ เช่น แจ้งเตือนการบำรุงรักษา แจ้งเตือนเมื่อเครื่องยนต์เกิดปัญหา แสดงตำแหน่งจอดรถล่าสุดด้วย GPS มือถือ รวมถึงแจ้งเตือนการติดต่อเข้ามือถือบนจอหน้าปัดรถ เมื่อมีสายเรียกเข้า อีเมล์ หรือการแจ้งเตือนข้อความบนมือถือ พร้อมแสดงอัตราการสิ้นเปลืองนํ้ามันโดยเฉลี่ยกับระยะทางในการขับขี่ ซึ่งเลือกดูแบบรายวันหรือรายเดือนได้ ประเดิมใช้แล้วในรุ่น AEROX และ NMAX
สำหรับ ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ ยอมรับว่า สภาพตลาดที่เปลี่ยนไปต้องปรับตัวตั้งแต่การผลิต การขาย และการสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงแผนการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ด้านการผลิต ต้องประสานการทำงานกับโรงงานเพื่อความยืดหยุ่นในการผลิตรถรุ่นต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็ว หรือไม่ผลิตแบบเหวี่ยงแหแล้วโยนภาระให้ดีลเลอร์ไปเก็บไว้ในสต๊อก การขายร่วมมือกับผู้จำหน่าย และสถาบันการเงินที่เชี่ยวชาญในแต่ละภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้า
“ลูกค้ารถจักรยานยนต์ในปัจจุบัน ซื้อรถด้วยเงินสดประมาณ 5-10% นอกนั้นใช้บริการของไฟแนนซ์ ซึ่งแต่ละรายมีความถนัดต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ไฟแนนซ์บางรายเชี่ยวชาญลูกค้าที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ลูกค้าทำธุรกิจอิสระ ชาวไร่ชาวสวน ตรงนี้เราต้องให้ดีลเลอร์มีไฟแนนซ์ 2-3 รายเป็นทางเลือก” นายพงศธร เอื้อมงคลชัย รองประธานกรรมการบริหาร ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ กล่าวและว่า
ปัจจุบันยามาฮ่ามี 600 โชว์รูมทั่วประเทศ ซึ่งบริษัทต้องลงไปในรายละเอียดเพื่อสนับสนุนธุรกิจของผู้จำหน่ายแต่ละราย รวมถึงแก้ปัญหาการปล่อยสินเชื่อยากในสถานการณ์โควิด-19
นายพงศธร กล่าวว่า เทรนด์การใช้รถของลูกค้าชาวไทยเปลี่ยนไปพอสมควร เห็นได้จากรถกลุ่มสปอร์ตเครื่องยนต์ 150 ซีซี มีสัดส่วนการขายลดลง แต่กลุ่มออโต้พรีเมี่ยมกลับได้รับความนิยมมากขึ้น เช่นตระกูล MAX อย่าง TMAX XMAX และ NMAX
“ปีที่แล้วยามาฮ่าตระกูล MAX ขายทั่วโลก 3.8 ล้านคัน และประเทศไทยขายรุ่น XMAX มากที่สุดในโลก 2.7 หมื่นคัน”
ยามาฮ่า ต้องการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ โดยสื่อสารนวัตกรรมที่สร้างความสุขให้ลูกค้า ล่าสุดเปิดตัวแคมเปญ “เพราะความสุข เร่งชีวิตให้เร้าใจ” ผ่านวิดีโอ 7 ชุด แบ่งตามเซกเมนต์ของรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า เพื่อถ่ายทอดความหมายของการส่งมอบความสุขผ่านการใช้รถจักรยานยนต์ยามาฮ่า
ปีนี้ ยามาฮ่าหวังสื่อสารเรื่อง Branding เป็นวงกว้างมากขึ้น โดยวิดีโอแต่ละชุดจะทยอยเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ตลอดเดือนเมษายน นี้ พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมให้ลูกค้า และผู้ที่ติดตามยามาฮ่าได้ร่วมสนุกในกิจกรรมที่เกี่ยวกับวิดีโอแคมเปญนี้ด้วย โดยสามารถติดตามรับชมผ่านช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์ของยามาฮ่า ทั้งสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ต่างๆ
“การทำตลาดผ่านออนไลน์ มีทั้งจากส่วนกลาง และการทำของผู้จำหน่ายในแต่ละพื้นที่ แต่เราจะเข้าไปให้คำแนะนำการใช้เครื่องมือในโซเชียล wมีเดียให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด ส่วนกิจกรรมร่วมกับผู้จำหน่าย ปีนี้ไม่ได้ลดจำนวนแต่อาจจะลดสเกลลง และกระจายไปแต่ละพื้นที่มากขึ้น ทั้งยังหวังว่าไตรมาสสุดท้ายของปี เราจะเปิดประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมจัดกิจกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติ จึงหวังว่าสภาพการขายจะกลับมาดีขึ้นกว่า 3 ไตรมาสแรก” นายพงศธร กล่าวสรุป
ทั้งนี้ ยามาฮ่า ตั้งเป้ายอดขายปี 2564 ไว้ 2.53 แสนคัน โต 5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ด้านคู่แข่ง เอ.พี. ฮอนด้า ประเมินว่าตลาดรถจักรยานยนต์ ปี 2564 จะทำได้ 1.54 ล้านคันโต 1% และตั้งเป้าของตนเองไว้ 1.22 ล้านคัน
ล่าสุด ฮอนด้า มอเตอร์ ปรับแผนธุรกิจในอาเซียน โดยควบรวมกิจการของ บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด, บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, และ บริษัท เอชพีดี จำกัด ก่อตั้งเป็นบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ดูแลการผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า รวมถึงผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์ เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2564
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,667 วันที่ 4 - 7 เมษายน พ.ศ. 2564