เจาะความพร้อมฐานผลิตยานยนต์ไทยสู่เป้าหมาย ZEV100%

23 พ.ค. 2564 | 13:09 น.

รัฐ-เอกชน ร่วมถกความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสู่เป้าหมายฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก หลังบอร์ดอีวีคาดปี 2035 ไทยจะผลิต ZEV100%

จับทิศทางยานยนต์ไทย หลังบอร์ดอีวีประกาศเป้าหมายว่าภายในปี 2035 ไทยจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไร้มลพิษ หรือยานยนต์ไฟฟ้า 100 %  ซึ่งแนวทางหรือนโยบายดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้มากหรือน้อยแค่ไหน ล่าสุดทาง อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ผู้จัดงาน อินเตอร์แมค-ซับคอนไทยแลนด์ 2021 ได้จับมือ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย


จัดงานสัมมนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% ปี 2035 จุดเปลี่ยนสำคัญอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หรือ ZEV@35 และมุมมองการเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่รถยนต์ไฟฟ้าปี 2035โดยภายในงานสัมมนาออนไลน์ที่จัดขึ้นนี้ มีทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน มาร่วมแสดงความคิดเห็น ความพร้อมของประเทศไทยเกี่ยวกับนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า


รัฐเดินหน้าหนุนเต็มสูบ 
นางสาวพะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ภาครัฐ ตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยมีแผนงานเพื่อผลักดันให้มีการผลิตรถยนต์นั่งและรถยนต์กระบะไฟฟ้าไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle  (ZEV) 100%  ในระยะเร่งด่วนให้ได้ 225,000 คัน ภายในปี 2025 และในแผนระยะยาวเพิ่มขึ้นเป็น 1,350,000 คัน ภายในปี 2035 


ทั้งนี้ได้มีมาตรการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนครอบคลุมในทุกมิติเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์อย่างสูงสุด อาทิ ส่งเสริมให้เกิด Demand และ Supply ในตลาด Mass Market และ Niche Market ทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถบัส รถบรรทุก สามล้อ เรือโดยสาร รถไฟฟ้าระบบราง เพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 


โดย BOI ได้เปิดส่งเสริมการลงทุนรอบใหม่ที่ครอบคลุมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในทุกประเภท และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าอีก 4 รายการ, การสนับสนุนค่าไฟคงที่สำหรับผู้ให้บริการอัดประจุไฟฟ้า, การยกเว้น-ลดภาษีรถยนต์ประจำปี เป็นต้น 


นอกจากนี้ยังมีแนวทางการสร้าง ECO System ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างรอบด้าน อาทิ การพัฒนาสถานี อัดประจุไฟฟ้า การส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ การสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน  รวมทั้งยังได้วางแผนงานมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในรูปแบบเดิมที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว 
 

โควิดไม่กระทบยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า
นาย กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย(Electric Vehicle Association of Thailand - EVAT) กล่าวว่า ประเทศไทยตื่นตัวเรื่องยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากยอดจดทะเบียนในปีที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 5,685 คัน เติบโต 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนในไตรมาสแรกของปีนี้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีสถิติการจดทะเบียน 1,253 คัน คาดว่าจนถึงสิ้นปีจะขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้จะมีสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 


ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) มีการกำหนดทิศทาง ออกมาตรการส่งเสริม ปูทางให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในอนาคต  โดยมีเป้าหมายระยะยาวในปี 2035 มีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียน 1,154,000 คัน และจะมีจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมรวมกว่า 6,400,000 คัน


ส่วนจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ จุดชาร์จ ปัจจุบันมีจำนวน 2,177 หัวจ่าย จากจำนวน 641 สถานี โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 จะเพิ่มเป็น 12,000 สถานี 


แนะเช่าแบตเตอรี่ หวังดันราคารถถูกลง
นาย ครรชิต ไชยสุโพธิ์ รองประธานฝ่ายประสานงานกิจการภายนอกและรัฐกิจสัมพันธ์ เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย กล่าวว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเเห่งชาติ ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2035 ให้ยานยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ภายในประเทศ เป็นยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) ในสัดส่วน 100% ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี 


สำหรับแบรนด์เกรทวอลล์ มองว่าหัวใจในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจะสำเร็จได้หรือไม่นั้นสิ่งสำคัญคือ วอลุ่ม (volume) ของยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนซื้อชิ้นส่วนในประเทศเพื่อผลิตแข่งขันกับที่นำเข้าได้จาก Economies of scale ของการผลิตชิ้นส่วนสำคัญต่างๆของรถไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่อหน่วยถูกลง


นายครรชิต นำเสนออีกหนึ่งมุมมองที่จะทำให้คนไทยมีโอกาสซื้อรถยนต์ไฟฟ้าได้ถูกลงคือ ทำไมไม่ส่งเสริมให้เช่าแบตเตอรี่ อาจจะเช่า 3 – 5 ปี เมื่อครบกำหนดเช่าก็เปลี่ยนใหม่ ถือเป็นการผลักดันดีมานด์หรือทำให้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าสามารถแข่งขันกับรถยนต์สันดาปภายในได้ (ICE)


อีกทั้งยังเป็นการสร้างตลาดให้เกิดการซื้อง่ายขายคล่อง ไม่ต้องกังวลเรื่องราคาขายต่อ โดยหน่วยงานที่ให้เช่าสามารถทำงานร่วมกับรัฐในการจัดการแบตเตอรี่ในการเข้าไปสู่กระบวนการ  รีไซเคิล ได้อย่างครบวงจร เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้แผนงานเดินหน้าได้เร็วโดยไม่ต้องใช้งบของรัฐเลย
 

ด้านนางสุกัญญา อมรนุรัตน์กุล ผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการอาวุโส อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า “การจัดสัมมนาออนไลน์ “ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 100% ปี 2035 จุดเปลี่ยนสำคัญอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยในการก้าวสู่อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้สนใจเป็นอย่างมาก 


ขณะที่งานอินเตอร์แมค 2021 (INTERMACH 2021) ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้ธีมงาน “งานแสดงเทคโนโลยีการผลิต ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่อนาคต” ที่รวบรวมโซลูชันอัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงและงานโลหะแผ่นทั้งเครื่องจักร ซอฟท์แวร์ และอุปกรณ์เกี่ยวข้อง อาทิ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์แขนกล ปัญญาประดิษฐ์ ระบบ IoT แบบครบวงจร รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการแบบไฮบริด โซนแสดงเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ งานสัมมนาเทคโนโลยีและโอกาสทางธุรกิจกว่า 30 หัวข้อ 


ส่วนงาน ซับคอน ไทยแลนด์ 2021 (SUBCON Thailand 2021)  งานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและกิจกรรมจับคู่ธุรกิจชั้นนำของอาเซียนซึ่งปีนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 มีการใช้โปรแกรมจับคู่ธุรกิจสำหรับผู้แสดงสินค้าของงานเพื่อเชื่อมโยงทางธุรกิจและสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยและชาวต่างชาติผ่านระบบออนไลน์ช่วยต่อยอดสู่ความร่วมมือในอนาคต  โดยตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีการจับคู่ธุรกิจภายในงานและการจับคู่ด้วยระบบออนไลน์ได้ไม่น้อยกว่า 3,000 คู่  เกิดมูลค่าทางธุรกิจไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท


สำหรับงาน อินเตอร์แมค 2021 (INTERMACH 2021) และงานซับคอน ไทยแลนด์ 2021 (SUBCON Thailand 2021) ระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน 2564 ในรูปแบบไฮบริด เอ็กซ์ซิบิชั่น (Hybrid Exhibition)     ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง