ในขณะที่ยอดขายรถยนต์เดือนกรกฎาคม 2564 ตามรายงานของโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ว่า ตลาดรวมทำได้ 52,442 คัน ลดลง 11.6% ซึ่งถือเป็นยอดขายที่ติดลบเดือนแรกในรอบปี เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2563 เพราะตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2564 ยอดขายเป็นบวกมาโดยตลอด
เหนืออื่นใด สถานการณ์ในเดือนสิงหาคมยังดำดิ่ง ด้วยยอดขายรถประมาณ 42,000 คัน ลดลง 39% เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม ปี 2563 (68,883 คัน) และเป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบปี ส่วนยอดขายสะสม 8 เดือน(ม.ค.- ส.ค.64) กว่า 4.6 แสนคัน เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ในเดือนสิงหาคมมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่ 4 รวมทั้งการออกมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว เป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ต้องชะลอ หรือเลื่อนกำหนดการออกไป รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้า ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัว และกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ด้วยเช่นกัน
“เรามีความหวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะฟื้นตัวดีขึ้นจากความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขปัญหา และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในอนาคตอันสั้น” นายสุรศักดิ์ กล่าว
นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนกันยายน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีและเป็นปัจจัยบวกที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ส่วนยอดขายรถยนต์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ตลาดรวมยังคงทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 42,000 คัน
“ส่วนยอดขายมาสด้าในเดือนสิงหาคม 2564 ทำได้ 1,813 คัน แบ่งออกเป็นรถยนต์นั่ง 1,061 คัน เอสยูวี 682 คัน และปิกอัพ บีที-50 จำนวน 70 คัน เนื่องจากได้รับผลกระทบรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น การเข้าสู่ช่วงฤดูฝน การเข้มงวดด้านมาตรการต่างๆ ในทุกพื้นที่ยังคงมีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า” นายธีร์ กล่าวสรุป
ด้านอีเวนต์ยานยนต์ระดับประเทศ ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นยอดขาย อย่างมหกรรมยานยนต์ หรือ “มอเตอร์เอ็กซ์โป” ปีนี้จัดระหว่าง 1-12 ธันวาคม 2564 ที่ อิมแพค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 1-3 เมืองทองธานี โดยผู้จัดสื่อสากล ยืนยันว่า จัดงานตามกำหนดเดิมแน่นอน ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และอุปกรณ์เกี่ยวเนื่อง ต่างจ่ายเงินค่าพื้นกันเต็มจำนวนแล้ว
แม้ อิมแพค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ ปัจจุบันยังเป็นโรงพยาบาลบุษราคัม รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข แต่สัญญาการใช้พื้นที่จะหมดลงปลายเดือนตุลาคม 2564 ดังนั้นหากเป็นไปตามฉากทัศน์นี้ เจ้าของพื้นที่อย่างอิมแพค มีเวลาในการปรับปรุงสถานที่ให้กลับมารับงานแสดงสินค้า และนิทรรศการ ต่างๆได้ในช่วงปลายปี ซึ่งรวมถึง “มอเตอร์เอ็กซ์โป 2021”
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ และผู้นำเข้าอิสระ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องบางราย ที่จ่ายเงินเช่าพื้นที่ เพื่อออกบูธในงาน“มอเตอร์เอ็กซ์โป 2021” ว่างานปีนี้อาจจะเงียบเหงา และผู้คนยังไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย
แหล่งข่าว ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นรายหนึ่ง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ผลกำไรของบริษัทติดลบไปพอสมควร เพราะค่าใช้จ่ายเท่าเดิม แต่ยอดขายและกำไรต่อหน่วยลดลงไปมาก ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ แม้บางคนจะมีกำลังซื้อ แต่อารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอยไม่ค่อยมี รวมถึงสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะบุคคล หรือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ที่ไฟแนนซ์จะพิจารณาอย่างละเอียด และแทบไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ
ส่วนงาน “มอเตอร์เอ็กซ์โป 2021” อาจจะไม่คึกคักเหมือนปีที่ผ่านๆ มา เพราะเข้าใจว่าผู้คนยังไม่กล้าไปเดิน และไม่คิดออกรถใหม่ภายในปีนี้ แต่ด้วยการเป็นอีเวนต์ใหญ่ประจำปี บริษัทได้ตั้งงบประมาณเอาไว้แล้ว จึงต้องเข้าร่วมงาน ซึ่งบริษัทคงต้องปรับแผนใหม่ โดยลดต้นทุนเรื่องการตกแต่งบูธ และโปรดักชันการแสดง ที่คงจะตัดออกให้ได้มากที่สุด