“Carbon Neutral ศัตรูคือคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ใช่รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน”
ตามที่รัฐบาลญี่ปุ่น กำหนดยุทธศาสตร์การเป็นประเทศปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral) อย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2050 พร้อมเร่งให้ผู้ประกอบการเอกชนดำเนินธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งจากการดำเนินงานและจากการใช้ผลิตภัณฑ์
ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นถูกหมายหัวอย่างหนัก ขณะที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายจะต้องขายรถใหม่ที่เป็น EV 100% ในปี 2035 (ปีเดียวกับประเทศไทย) ล่าสุดยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกอย่างโตโยต้า โดยซีอีโอ “อากิโอะ โตโยดะ” ออกมายํ้าชัดเจนอีกครั้ง ถึงการก้าวผ่านเทคโนโลยี ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
อากิโอะ โตโยดะ ประธานโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น ยํ้าในงานของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่น (JAPAN AUTO MOBILE MANUFACTURERS ASSOCIATION - JAMA) ในฐานะประธานของกลุ่มว่า แผน การเป็นประเทศปลอดคาร์บอน (Carbon Neutral) ของรัฐบาล มีผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น และจะมีแรงงานหลายล้านคนตกงาน
“ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ดังนั้น ความเป็นกลางทางคาร์บอนจึงเท่ากับปัญหาการจ้างงานในญี่ปุ่น เมื่อนักการเมืองบางคนบอกว่า เราจำเป็นต้องเปลี่ยนรถยนต์ทุกคันให้กลายเป็น EV หรือตอนนี้อุตสาหกรรมการผลิตของเราล้าสมัย แต่ผมไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้น และโตโยต้า ยังมีหน้าที่ปกป้องการจ้างงาน และชีวิตของคนญี่ปุ่น” นายโตโยดะ กล่าวและว่า
โตโยต้า ยังมีหน้าที่ปกป้องการจ้างงาน และชีวิตของคนญี่ปุ่น
ประเทศญี่ปุ่นผลิตรถยนต์ปีละ 10 ล้านคัน ในจำนวนนี้ 5 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อส่งออก หากตามเป้าหมายภายในปี 2030 ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นมุ่งสู่รถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเราคาดการณ์ว่าจะผลิต EV ถึง 2 ล้านคัน(BEV และ FCEV) นั่นเท่ากับว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน 8 ล้านคัน จะหายไปเลย และส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในระบบกว่า 5.5 ล้านคน
เรามองว่า รถไฮบริดยังมีความสำคัญ และเป็นทางผ่านของเทคโนโลยี ก่อนก้าวไปสู่ยุค EV โดยเหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ไม่ต้องกังวลเรื่องสถานีชาร์จ
“Carbon Neutral ศัตรูคือคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ศัตรูคือรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine)” นายโตโยดะ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ โตโยต้า มอเตอร์ คอปอร์เรชัน ประเทศญี่ปุ่น (TMC) เพิ่งประกาศลงทุนกว่า 4.5 แสนล้านบาท สำหรับโครงการพัฒนาแบตเตอรี่เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2030 ขณะที่วิกฤติโควิด-19 มีผลกระทบต่อธุรกิจ โดย TMC เพิ่งประกาศลดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ลง 3 แสนคันในปี 2564 หลังจากโรงงานซัพพลายเออร์ในเวียดนาม และมาเลเซีย ชะลอการผลิตจากปัญหาแรงงาน รวมถึงการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตไปทั่วโลก
…แน่นอนว่า แนวคิดในการดำเนินธุรกิจของ “อากิโอะ โตโยดะ” และ JAMA หรือแผนงานต่างๆ ของโตโยต้า ย่อมส่งผลกับการวางนโยบายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทย