แม้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2564 จะเผชิญความทุลักทุเลในการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่บรรดาผู้ประกอบการต่างมีความเข้าใจ และสามารถปรับตัวได้ระดับหนึ่ง หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นปีที่สอง ขณะที่ยอดขายรถยนต์ลดลงถ้วนหน้า จะมีเพียงโตโยต้า อีซูซุ เอ็มจี ฟอร์ด ซูบารุ ที่ตัวเลขเป็นบวก (นับเฉพาะตลาดแมส) แต่สิ่งที่ทุกค่ายโดนเหมือนกันคือ การผลิตที่มีอุปสรรค ทำให้รถยนต์หลายรุ่น ไม่สามารถส่งมอบได้ทันกับความต้องการของลูกค้า จึงเสียโอกาสทางการขายไปและทำตัวเลขไม่ได้ตามเป้าหมาย
12 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นปีแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี และการดิสรัปต์… “ฐานยานยนต์” รวบรวม 5 ข่าวเด่นในรอบปี 2564 ว่ามีเหตุการณ์สำคัญใดเกิดขึ้นบ้างในตลาดรถยนต์ไทย
1.โควิดป่วน-ชิปขาด กระทบกำลังการผลิตรถยนต์
ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2563 และสร้างผลกระทบกับห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ทั่วโลกตลอดปี 2564 (รวมถึง สินค้าไอที) และคาดว่าจะต้องเผชิญต่อไปอย่างน้อยถึงกลางปี 2565
ประเด็นนี้ “คริส เวลส์”กรรมการผู้จัดการ วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย ยอมรับว่า หากรถวอลโว่ EV ที่นำเข้าจากจีน และรถปลั๊ก-อินไฮบริดที่นำเข้าจากมาเลเซีย สามารถส่งมอบได้ตามจำนวนที่วางแผนเอาไว้ ยอดขายวอลโว่ ประเทศไทยจะดีกว่านี้แน่
“ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์กระทบอุตสาหกรรมทั่วโลก อย่างกรณีที่บริษัทจะสั่งซื้อคอมพิวเตอร์ชุดใหม่มาใช้ในสำนักงาน ยังต้องรอเกิน 6 เดือน เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ หากไม่มีอุปสรรคเรื่องกำลังการผลิต คาดว่ายอดขายวอลโว่ในไทยควรจะขยายตัวในระดับ 15-20% เมื่อเทียบกับปี 2563 (ที่ทำได้ 1,824 คัน)” นายคริส เวลส์กล่าว
ทั้งนี้ Volvo XC40 Recharge Pure Electric เอสยูวี EV รุ่นแรกที่ วอลโว่สั่งมาจากจีน และเปิดให้จองตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 แต่การส่งมอบได้มาเพียงล็อตเดียวในช่วงเดือนกรกฎาคม และไม่มีรถส่งมอบอีกเลย จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2564
วิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดทั้งปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน อุปสรรคด้าน โลจิสติกส์ รวมถึงการติดเชื้อโควิด-19 ของพนักงานของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน จนส่งผลต่อการวางผลิตรถยนต์
พี่ใหญ่ “โตโยต้า” ปรับแผนงานการผลิตทั้งเพิ่มวันหยุดตามปี ปฏิทิน ลดเวลาทำงานให้สอดคล้องกับศักยภาพการผลิตตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ขณะที่เดือนกรกฎาคม โตโยต้า ประกาศให้โรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่งในไทยหยุดยาว 9 วันจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต เพราะโรงงานของซัพพลายเออร์ต้องปิดหลังพบพนักงานติดโควิด-19
สำหรับโตโยต้า มีโรงงานผลิตรถยนต์ที่ จ.ฉะเชิงเทรา 2 แห่ง คือ บ้านโพธิ์ กำลังการผลิตเต็มที่ 2.2 แสน คันต่อปี และเกตเวย์ 3 แสนคันต่อปีรวมถึงโรงงานสำโรง จ.สมุทรปราการ 2.4 แสนคันต่อปี โดยทั้ง 3 โรงงานหยุดการผลิตชั่วคราวจากผลกระทบด้านโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม- 4 สิงหาคม 2564
อย่างไรก็ตาม หลังผ่านไปครึ่งปี โตโยต้าประกาศปรับลดเป้าหมายการขายของตลาดรวมลงเหลือ 8 แสนคันน้อยกว่าที่ประเมินไว้ช่วงต้นปีว่า ยอดขายทุกยี่ห้อจะถึง 8.5-9.0 แสนคัน ขณะเดียวกันยังปรับลดเป้าหมายการขายของตนเองลงเหลือ 2.6 แสนคัน จากที่เคยตั้งไว้ 2.8-3.0 แสนคัน
ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่ายอดผลิตรถยนต์รวมปี 2564 จะทำได้ 1.6 ล้านคัน (ปี 2563 ประมาณ 1.42 ล้านคัน) ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกเกือบ 60%
2. น้องใหม่ GWM ทุ่มตลาดไล่บี้ เอ็มจี แบรนด์ญี่ปุ่น
เกรท วอลล์ มอเตอร์ รับมอบโรงงานผลิตรถยนต์ จ.ระยอง ที่ซื้อมาจาก เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ในเดือนตุลาคม 2563 จากนั้นจ็อบวันของ Haval H6 Hybrid พร้อมทันทีในช่วงกลางปี 2564
ตามแผน 9 in 3 ของ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” กับการเปิดตัวรถยนต์ใหม่ 9 รุ่นภายใน 3 ปี คือระหว่างปี พ.ศ. 2564-2566 ซึ่งรถทุกรุ่นจะเป็น xEV ทั้งประเภทไฮบริด, ปลั๊ก-อินไฮบริด และ อีวี ประเดิมด้วย Haval H6 Hybrid เป็นโมเดลแรก ถัดมาเดือนตุลาคม เสริมทัพ Ora Good Cat EV ที่นำเข้ามาจากจีนและปลายเดือนพฤศจิกายนส่ง Haval Jolion Hybrid ลุยตลาดบี-เอสยูวี
เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังวาง แผนเครือข่ายการขายใหม่ โดยไม่ใช้ระบบดีลเลอร์แบบเดิม แต่จะเป็นระบบพันธมิตร GWM Partner Store ที่เหมือนเป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทแม่กับคู่ค้า ซึ่งระบบนี้บริษัทพันธมิตร (รูปแบบเดิมคือดีลเลอร์) ไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ เพื่อซื้อรถมา สต๊อก เพราะเกรท วอลล์ มอเตอร์ จะควบคุมเองทั้งหมด
ขณะที่บริษัทพันธมิตรนี้ จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการปล่อยรถให้ลูกค้า แล้วได้ผลตอบแทนเป็นค่าปล่อยรถต่อคันแทน จากนั้นเมื่อมีรายได้รวมเข้ามาเป็นรายเดือน/รายปี เมื่อหักเป็นกำไรแล้ว จะต้องนำเงินส่วนนี้มาแบ่งกันระหว่าง พันธมิตร กับ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในสัดส่วน 70:30
เกรท วอลล์ มอเตอร์ มีแผนเปิด GWM Direct Store ที่ลงทุนเองตามห้างใหญ่ และ GWM Partner Store รวมครบ 30 แห่ง ภายในสิ้นปี 2564 จากนั้นภายในไตรมาสแรกของปี 2565 จะขยายครบ 50 แห่ง
ถือเป็นการลงทุนมหาศาลระดับหมื่นล้านบาทของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในไทย ทั้งซื้อโรงงานผลิต วางเครือข่ายการขาย-บริการหลังการขาย และทุ่มเงินสร้างแบรนด์ผ่านช่องทาง ออนไลน์ ออฟไลน์ และออนกราวด์ ทั้งการเปิด GWM Direct Store และ GWM Experience Center ที่ไอคอนสยาม และสถานีชาร์จ EV ที่สยามสแควร์
ในส่วนโปรดักต์ใหม่ยังมีตามมาอีกเพียบทั้ง EV ปิกอัพ เอสยูวี โดยรถที่เตรียมเปิดตัวในปี 2565 ยืน ยันแล้วหนึ่งรุ่น คือ Haval H6 Plug-in Hybrid ประกอบในไทย
3.ดูคาติ เปลี่ยนดิสทริบิวเตอร์-โรงงานระยองเล็งผลิตเพิ่ม
วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ดูคาติ เปิดตัวผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายรายใหม่อย่างเป็นทางการ คือ “โมโตเร อิตาเลียโน” ธุรกิจในกลุ่มเดียวกับ “ไมซ์สเตอร์ เทคนิค” หรือ อาวดี้ ไทยแลนด์
โมโตเร อิตาเลียโน จะเข้ามาดูแลตลาดดูคาติ แทนที่รายเดิม บริษัท ดูคาทิสติ จำกัด (เครือชาริช โฮลดิ้ง) ที่ดูแลกันมา 18 ปี โดยนายกฤษณะกร เศวตนันทน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โมโตเร อิตาเลียโน จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมในทุกด้านที่จะเข้ามาดูแลลูกค้าดูคาติทั่วประเทศกว่า 12,000 ราย
ล่าสุดเปิดตัว Ducati Monster โฉมใหม่เจเนอเรชันที่ 4 ส่วนโชว์รูมและศูนย์บริการสาขาใหญ่ Ducati Bangkok สาขาสุวรรณภูมิ ถูกวาง คอนเซปต์ภายใต้พื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร สามารถจัดแสดงมอเตอร์ไซค์ได้ 30 คัน และมีรถพร้อมให้ทดลองขับครบทุกรุ่น
นอกจากนี้โมโตเร อิตาเลียโน เตรียมเปิดเพิ่มอีก 3 สาขาในกรุงเทพฯ ตามโชว์รูมอาวดี้ทั้ง 3 แห่ง (ถนนประดิษฐ์มนูธรรม, เพชรบุรีตัดใหม่ และราชพฤกษ์)
ในส่วนดิสทริบิวเตอร์ที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่โรงงานดูคาติมอเตอร์ จ.ระยอง ที่เป็นการลงทุนโดยตรงจากบริษัทแม่ประเทศอิตาลี ยังเดินหน้าโกยรายได้ปีละกว่า 3,000 ล้านบาทซึ่งปี 2561 มีกำไรสุทธิหลังหักภาษี 229 ล้านบาท และปี 2562 กำไร 283 ล้านบาท
ส่วนปี 2563 กำไรลดลง 11% เหลือ 252 ล้านบาท ปัจจุบันผลิตรถได้ 10,000 คันต่อปี ในจำนวนนี้เป็น การส่งออกมากกว่า 90% และกำลังวางแผนเพิ่มกำลังผลิตเป็น 18,000 คันต่อปี หลังยอดขายต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโต
4.EV จีนบุกตลาด เบนซ์ประกอบ EQS ในไทย
EV จากจีนพร้อมนำเข้ามาถล่มตลาดไทยตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ทั้งจากผู้บุกเบิกคือ MG และน้องใหม่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ภายใต้เงื่อนไขไม่เสียภาษีนำเข้าตามข้อตกลง FTA จีน-อาเซียน (แต่ทั้งสองค่ายยืนยันว่ามีแผนประกอบ EV ในไทย)
ปัจจุบัน เกรท วอลล์ มอเตอร์ นำเข้า Ora Good Cat มาขายในราคา 9.89 แสนบาท และ 1.059 ล้านบาทกับรุ่นที่วิ่งได้ 400 กม. และตัวท็อป 1.199 ล้านบาทระยะทางวิ่ง 500 กม. ปัจจุบันมียอดจองเกือบ 3,000 คัน แต่เริ่มทยอยส่งมอบได้กว่า 200 คันแล้ว
ส่วนเอ็มจี ที่มี MG EP และ MG ZS EV ซึ่งในปี 2564 น่าจะทำยอดขายรวมกันประมาณ 1,000 คัน และปี 2565 เตรียมส่ง MG ZS EV ไมเนอร์เชนจ์ ที่ปรับรูปลักษณ์ใหม่และวิ่งได้ระยะทางไกลขึ้น
นอกจากสองค่ายจีนแล้วแบรนด์ยุโรปที่มีฐานการผลิตในจีน ยังใช้ช่องทาง FTA นี้นำเข้า EV มาทำตลาดในไทยเช่นกัน โดยวอลโว่ นำเข้า Volvo XC40 Recharge Pure Electric ราคา 2.59 ล้านบาท และปีหน้าเตรียมเสริมทัพ Volvo C40 Recharge Pure Electric ที่ใช้พื้นฐานเดียวกัน โดยจะเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2565
ขณะที่บีเอ็มดับเบิลยูนำเข้า EV มาขายในไทย 2 รุ่น คือ BMW iX3 และ BMW iX xDrive50 โดยรถรุ่นแรกนำเข้าจากจีน ขายในราคา 3.359 ล้านบาท ส่วนรุ่นหลังจากเยอรมนี ราคา 5.999 ล้านบาท
สำหรับ BMW iX3 ใช้มอเตอร์หนึ่งตัวขับเคลื่อนล้อหลัง กำลัง 286 แรงม้า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 80 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะทาง 460 กิโลเมตร ส่วน BMW iX xDrive50 ติดตั้งมอเตอร์ 2 ตัว ด้านหน้าและหลัง กำลัง 525 แรงม้า อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 4.6 วินาที แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 111.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะทาง 630 กิโลเมตร
ในขณะที่แบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่จ้องนำเข้า EV จากจีน แต่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ยืนยันหนักแน่นว่า พร้อมขึ้นไลน์ประกอบ EV ในไทยแน่นอน ภายใต้ซับแบรนด์ Mercedes-EQ
ช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมอร์เซเดส-เบนซ์ นำเข้า EQS 450+ AMG Premium มาอวดโฉม EV รุ่นมอเตอร์ตัวเดียวขับเคลื่อนล้อหลัง แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนความจุ 107.8 กิโลวัตต์ชั่วโมงชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะทาง 770 กม.
ทั้งนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จะใช้สิทธิ์นำเข้า EQS โดยไม่เสียภาษีนำเข้ามาก่อนจำนวนหนึ่ง ตามเงื่อนไขของ BOI (แต่ยังไม่ขาย) เพื่อนำมาทำกิจกรรม ประชาสัมพันธ์ ปูทางสร้างการรับรู้ ก่อนจะพร้อมขึ้นไลน์ผลิตช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ สำโรง จ.สมุทรปราการ โดยรุ่นย่อยของ EQS ที่เตรียมประกอบและทำตลาดในไทย ยังไม่ยืนยันว่าจะเป็นสเปกไหน
5.โตโยต้าโดนขุดคดีติดสินบนพริอุสหมื่นล้าน
ต้นปี 2564 มีข่าวดังระดับโลก เมื่อโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน (TMC) รายงานต่อ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ (DOJ) ว่า มีความเป็นไปได้ที่ บริษัทลูกแห่งหนึ่งของโตโยต้าในประเทศไทยอาจกระทำการละเมิด กฎหมายต่อต้านการติดสินบน หรือ anti-bribery laws ของสหรัฐฯ
ขณะที่ เว็บไซต์ Law360 ของ สหรัฐอเมริกา แฉว่า โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย (ทีเอ็มที) มีความเชื่อมโยงกับบริษัทสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง เพื่อติดสินบนศาลในกรณีข้อพิพาทภาษีโตโยต้า พริอุส ที่มีมูลค่าความเสียหายต่อรัฐ
ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2564 นายโนริอากิ ยามาชิตะ ประธานโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เข้าชี้แจง กมธ.สภาผู้แทนราษฎร ในคดีนี้ว่า บริษัทได้จ่ายเงินให้สำนักงานกฎหมายจริง เป็นจำนวนเงิน 18 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือประมาณ 580 ล้านบาท
ปัจจุบัน คดียังไม่ถึงที่สุด เมื่อ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บ ภาษีเป็นจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง และอยู่ในขั้นตอนของศาลฎีกาว่าจะรับพิจารณาคดีหรือไม่ หลังแพ้มาจากศาลอุทธรณ์
ทั้งนี้ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย มีข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บภาษี คือ กรมศุลกากรและกรมสรรพกร ตั้งแต่ปี 2556 จากการสำแดงภาษีโตโยต้า พริอุสไม่ถูกต้องทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีกว่า 11,000 ล้านบาท