วันที่ 10 มกราคม 2565 ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบพบ "หนังสือเวียนมติคณะรัฐมนตรี ปี ๒๕๖๔ เดือนธันวาคม" ซึ่งระบุในเว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)
ซึ่งลงนามโดย นางณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือเวียนด่วนที่สุด เลขที่หนังสือ นร ๐๕๐๕/ว ๓๔๔๑ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 เรื่อง การนํารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในราชการ โดยทำถึงรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม ต่างๆ โดยเเนื้อหาระบุว่า
ตามที่ได้ยืนยัน/แจ้งมติคณะรัฐมนตรี 24 สิงหาคม 2564 เกี่ยวกับเรื่อง การนํารถยนต์ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในราชการ มาเพื่อทราบ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณา เกี่ยวกับความพร้อมในการนํารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในราชการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 (เรื่อง การนํารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในราชการ) ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่า
การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการประจุไฟฟ้าของรถยนต์ที่ขับเคลื่อน ด้วยพลังงานไฟฟ้าในสถานที่ราชการสามารถดําเนินการได้ตามระเบียบของทางราชการ โดยกรณีที่เป็นการเช่า รถยนต์ส่วนกลาง การเบิกจ่ายค่าบริการประจุไฟฟ้าถือเป็นค่าสาธารณูปโภคซึ่งเป็นดุลยพินิจของหัวหน้าส่วนราชการ ตามนัยข้อ 14(1) ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ พ.ศ. ๒๕๕๓
และกรณีที่เป็นรถยนต์ประจําตําแหน่ง ผู้ใช้รถประจําตําแหน่งเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง ตามนัยข้อ 21 ของระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติว่า
1. รับทราบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชี้แจง
2. ให้กระทรวงการคลังร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงพลังงาน สํานักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิจารณาความจําเป็นเหมาะสมในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดําเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 (เรื่อง การนํารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในราชการ)
รวมทั้งให้พิจารณากําหนดหลักเกณฑ์ คุณลักษณะเฉพาะ ความเหมาะสมของค่าใช้จ่าย และแนวทางการดําเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการเช่ารถยนต์ ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในภารกิจของหน่วยงานของรัฐ ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว
3.อนุมัติเป็นหลักการว่า ในระหว่างที่โครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับ การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ให้ทุกส่วนราชการสามารถจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ (รถตู้หรือรถกระบะ) สันดาปภายใน หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle: HEV) หรือรถยนต์ไฟฟ้า แบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) ไปพลางก่อนได้ ตามความจําเป็นและเหมาะสม
โดยให้เน้นรถยนต์ HEV หรือ PHEV เป็นหลัก เพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายในการก้าวเข้าสู่การเป็นสังคม คาร์บอนต่ําและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 ภายในปี 2573 จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบ/จึงเรียนยืนยันมา/จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ