ค่ายรถเยอรมนีสุดอั้น เริ่มปรับขึ้นราคาหลายรุ่น ทั้ง อาวดี้ ปอร์เช่ ที่เป็นรถนำเข้า ส่วนรุ่นประกอบในประเทศของเมอร์เซเดส-เบนซ์ โดยเฉพาะเอสยูวี GLC GLE และ GLS ขยับราคาหลักหมื่นถึงหลักแสน ด้านบีเอ็มดับเบิลยู แม้จะยันราคาเดิมทั้งรถ CBU และ CKD แต่ใช้วิธีขึ้นราคาโปรแกรม BSI แทน
รถยนต์หรูยอดโตสวนโควิด
ตลาดรถยนต์ระดับพรีเมี่ยมของไทยมียอดขายระดับ 2.5-3.0 หมื่นคันต่อปี นำโดย 4 ค่ายเยอรมนี บีเอ็มดับเบิลยู เมอร์เซเดส-เบนซ์ อาวดี้ และปอร์เช่ รวมถึงแบรนด์สวีเดน วอลโว่ และ เลกซัส ในเครือโตโยต้า แม้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ทั้ง ขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต ไม่มีรถส่งมอบได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ขณะที่กลุ่มรถนำเข้ายังแบกต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น และค่าเงินบาทอ่อน แต่ทุกค่ายรถสามารถปรับตัวในสถานการณ์ธุรกิจที่ท้าทาย พร้อมประคองยอดขายให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนทางภาวะเศรษฐกิจ
ในขณะที่ตลาดรถยนต์รวมปี 2564 ปิดตัวเลข 7.59 แสนคัน ลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับปี 2563 ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเซกเมนต์รถพรีเมี่ยมเกือบ 3.0 หมื่นคัน โดยความน่าสนใจอยู่ที่ “บีเอ็มดับเบิลยู” ทำยอดขายชนะ “เมอร์เซเดส-เบนซ์” สามารถรักษาแชมป์รถหรูเป็นปีที่สองติดต่อกัน
นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดรถยนต์พรีเมียมไทย 2 ปีซ้อน ด้วยยอดจดทะเบียนรวม 11,032 คัน แบ่งเป็นบีเอ็มดับเบิลยู 9,982 คัน มินิ 1,050 คัน
นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ยังส่งหนังสือขอบคุณบรรดาดีลเลอร์ โดยระบุว่า เรามียอดขายนำหน้าคู่แข่งด้วยตัวเลขถึง 3 หลัก กับการแข่งขันที่สูสีมากจนถึงสิ้นปี
ดังนั้นต้องขอบคุณในพลังแห่งความทุ่มเท ความเสียสละของทุกท่าน (ดีลเลอร์) ตลอดจนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่ไม่ลดน้อยลงเลย มันยังคงดีที่สุดและก้าวไปอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ด้าน ซึ่งทำให้เราแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ
ด้าน เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ไม่ได้แจ้งยอดขายอย่างเป็นทางการ(ให้ไปดูตัวเลขจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก) เพียงแต่ระบุว่า ยอดขายในปี 2564 เพิ่มขึ้น 13% (จากปี 2563
โรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยมีความต้องการในตลาดรถยนต์ระดับลักชัวรีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความท้าทายจากสถานการณ์โควิด ส่วนหนึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากการที่เราให้ความสำคัญกับลูกค้าและนำเสนอสิ่งที่พวกเขาต้องการได้อย่างตรงใจ ตลอดปี 2564 ทำให่บริษัททำยอดขายเพิ่มขึ้น 13%
BMW ขึ้นราคาโปรแกรม BSI
ทั้งนี้ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เตรียมจัดงานแถลงข่าวใหญ่ประจำปี 2565 ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้ พร้อมเปิดตัวรถยนต์ใหม่ 9 รุ่น (รวมมอเตอร์ไซค์) ในส่วนราคาขายยังไม่พบว่ามีการปรับขึ้น ทว่าก่อนหน้านี้ได้ประกาศปรับราคาโปรแกรมบำรุงรักษา BMW Service Inclusive (BSI) และ MINI Service Inclusive (MSI) 5,000-10,000 บาท แล้วแต่แพกเกจ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565
สำหรับโปรแกรมบำรุงรักษา BMW Service Inclusive (BSI) และ MINI Service Inclusive (MSI) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของค่ายใบพัดสีฟ้า ตั้งแต่การแยกแพ็กเกจออกมาจากราคาขายรถใหม่ หลังการปรับการคิดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จากราคาหน้าโรงงานเป็นราคาขายปลีก ในปี 2560 และที่ผ่านมายังเป็นอาวุธสำคัญในโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ที่ลูกค้าสามารถเลือกข้อเสนอได้หลากหลายตามความต้องการ
การปรับราคา BSI ในรถบีเอ็มดับเบิลยู ซีรีส์ 1, ซีรีส์ 2, ซีรีส์ 3, ซีรีส์ 4, X1, X3, X4, Z4 กับแพ็กเกจมาตรฐาน BSI Plus รับโปรแกรมบำรุงรักษา 5 ปี หรือ 100,000 กม. พร้อมการรับประกัน 3 ปี ไม่จำกัดระยะทาง โดยขึ้นราคาจาก 35,000 เป็น 40,000 บาท ขณะที่ BSI ULTIMATE โปรแกรมบำรุงรักษา 5 ปี หรือ 100,000 กม. และการรับประกัน 5 ปี ไม่จำกัดระยะทาง ปรับราคาจาก 80,000 เป็น 90,000 บาท
เบนซ์เอสยูวีขยับราคายกแผง
ในส่วนเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เตรียมจัดงานแถลงข่าวประจำปี 2565 ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นี้ โดยไฮไลต์สำคัญของปีนี้คือ การเปิดตัว ซี-คลาส โฉมใหม่ W206 รุ่นประกอบในประเทศ และปลายปีจะเป็นคิว EQS รถพลังงานไฟฟ้า EV ที่เตรียมขึ้นไลน์ประกอบเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย มีการปรับราคาขายรถใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 หลายรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเอสยูวี ดังนี้
อาวดี้-ปอร์เช่ รับดีลเลอร์ใหม่
นอกเหนือจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู แล้ว อีกสองค่ายเยอรมนี อาวดี้ และปอร์เช่ ที่ทำยอดขายเติบโตต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีหลัง ซึ่งรายแรกดูแลตลาดโดยไมซ์สเตอร์ เทคนิคส่วนรายหลังโดย เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส
สำหรับอาวดี้ ประกาศปรับราคาขายรถใหม่ 1-2 แสนบาท ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 โดยนายกฤษณะกร เศวตนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไมซ์สเตอร์เทคนิค จำกัด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลนทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตรถทุกค่ายเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ต้นทุนในการนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จึงจำเป็นต้องปรับราคาขายรถยนต์ขึ้นทุกรุ่น
ส่วนยอดขายปี 2564 อาวดี้ทำได้ 1,308 คัน เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปี 2563 ส่วนแผนการดำเนินงานปี 2565 บริษัทจะทยอยนำเข้ารถใหม่อีกกว่า 10 รุ่น รวมถึงรถในตระกูล RS และรถพลังงานไฟฟ้า ด้านโชว์รูม-ศูนย์บริการ มีแผนเปิดดีลเลอร์เพิ่มอีกอย่างน้อย 2 แห่ง ในพื้นที่ภาคใต้ และภาคเหนือ
“อาวดี้ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากจำนวนรถยนต์อาวดี้ บนท้องถนน และขณะนี้ภายใต้การดำเนินงานของ ไมซ์สเตอร์เทคนิค ตลอด 5 ปีได้ส่งมอบให้ลูกค้าในประเทศไทยไปกว่า 4,000 คันแล้ว” นายกฤษณะกร กล่าว
ด้านปอร์เช่ ปิดปี 2564 ด้วยยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ทำธุรกิจในไทย ที่ 1,382 คัน เติบโต 106% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่ง EV รุ่นใหม่ Taycan แม้จะปรับราคาขึ้นเป็นหลักแสนบาท แต่มีส่วนสำคัญในความสำเร็จดังกล่าว ขณะเดียวกัน เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส ยังเปิดรับสมัครดีลเลอร์เป็นครั้งแรก เพื่อเปิดโชว์รูมในเขตกรุงเทพ-ปริมณฑล และชลบุรี รวม 2 แห่งภายในปีนี้