มันเป็นการแข่งขันที่สูสีมากจนถึงสิ้นปี สุดท้ายบีเอ็มดับเบิลยูมียอดขายนำหน้าคู่แข่ง ด้วยตัวเลขถึง 3 หลัก ยังคงรักษาตำแหน่งเบอร์หนึ่งในรถพรีเมี่ยมเซกเมนต์ เป็นปีที่สองติดต่อกัน
ตลาดรถพรีเมี่ยม นำโดย เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู อาวดี้ ปอร์เช่ วอลโว่ แม้จะมีอุปสรรคจากการผลิต เพราะปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน ทั้งรถนำเข้าและรถที่ประกอบในประเทศ แต่ยังประคองตัวทำยอดขายได้ดีขึ้นกว่าปี 2563
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแจ้งยอดขายกลุ่มรถพรีเมี่ยม ตกลงกันว่าจะไม่เปิดเผยหรือแชร์ข้อมูลไปที่ส่วนกลาง (โตโยต้าเป็นผู้รวบรวมและแจ้งข่าวรายเดือน) และให้ไปดูตัวเลขจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบกแทน ซึ่งหลังจากผ่านไป 3 ไตรมาสของปี 2564 สองคู่แข่งจากเยอรมนี เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู เริ่มเห็นทิศทางการผลิตและการส่งมอบรถ ที่ชัดเจน จึงต่างมั่นใจว่าตนเองจะเป็นแชมป์ในเซกเมนต์รถพรีเมี่ยมในปี 2564 ได้
รายงานจาก บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ว่า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยอดจดทะเบียนรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูและมินิ อยู่ที่ 8,600 คัน แบ่งเป็น “บีเอ็มดับเบิลยู” BMW 7,759 คัน “มินิ” 841 คัน ส่งผลให้บีเอ็มดับเบิลยูยังครองตำแหน่งผู้นำในตลาดรถยนต์นั่งระดับพรีเมียม ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ 41.3%
นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ความสำเร็จในไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจของลูกค้าชาวไทยทั่วประเทศที่มีต่อแบรนด์ของเรา ซึ่งเป็นผลจากความมุ่งมั่นที่เรามีให้กับตลาดในประเทศไทยมาโดยตลอด ขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ที่โรงงาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ในปี 2564 เพิ่มขึ้น 10.4%
ขณะที่นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า สัญญาณต่างๆ ในไตรมาสสุดท้ายเริ่มดีขึ้น ทั้งการที่รัฐบาลแสดงความชัดเจนถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงยอดจองรถใหม่เพิ่มขึ้น และการที่ดีลเลอร์สั่งรถเข้ามาในสต๊อกอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าไตรมาสที่ 4 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดสำหรับการขายรถเมอร์เซเดส-เบนซ์
“ยอดขาย เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เป็นไปตามเป้าหมาย และทำได้ตามที่สัญญาไว้กับบริษัทแม่ ที่สำคัญคือสถานการณ์ตอนนี้ดีลเลอร์มีกำไร เพราะไม่ต้องอัดแคมเปญแรงๆ เพื่อแข่งขันหรือตัดราคากันเอง ซึ่งเรามั่นใจว่าปี 2564 จะครองแชมป์เซ็กเมนต์รถยนต์พรีเมี่ยมของเมืองไทยได้แน่นอน” นายโฟล์เกอร์ กล่าว
สุดท้ายหลังจบ 12 เดือน ตัวเลขจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบกในกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง (รย.1) พบว่า บีเอ็มดับเบิลยู มียอด 9,982 คัน (ไม่รวม มินิ) เฉือน เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่ได้ 9,817 คัน ไปเพียง 165 คัน หรือถ้านับรวมรถตู้ใหญ่ Sprinter อีก 64 คัน ก็ยังไม่ทันค่ายใบพัดสีฟ้าอยู่ดี
ทั้งนี้ นายอเล็กซานเดอร์ บารากา นายใหญ่บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทยเปิดศักราชด้วยการส่งหนังสือขอบคุณบรรดาดีลเลอร์ พร้อมประกาศชัยชนะว่า บีเอ็มดับเบิลยู สามารถครองตำแหน่งแชมป์รถหรูในไทยได้สำเร็จ
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศ ไทย ยังคงรักษาตำแหน่งเบอร์หนึ่งในรถพรีเมี่ยมเซกเมนต์ เป็นปีที่สองติดต่อกัน โดยอ้างอิงจากยอดจดทะเบียนของกรมการขนส่งทางบกในปี 2564 และเรามียอดขายนำหน้าคู่แข่ง (สำคัญ) ด้วยตัวเลขถึง 3 หลัก
“มันเป็นการแข่งขันที่สูสีมากจนถึงสิ้นปี และต้องขอบคุณในความพลังแห่งความทุ่มเท ความเสียสละของทุกท่าน (ดีลเลอร์) ตลอดจนความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่ไม่ลดน้อยลงเลย มันยังคงดีที่สุดและก้าวไปอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ด้าน ซึ่งทำให้เราแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ” นายบารากา กล่าว
ขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เตรียมจัดงานแถลงข่าวถึงผลงานปี 2564 และทิศทางที่จะมุ่งไปในปี 2565 ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นี้ โดยกิจกรรมทางการตลาดช่วงต้นปียังมุ่งไปที่รถพลังงานไฟฟ้า EV รุ่น EQS และเอส-คลาส ปลั๊ก-อินไฮบริด S 580 e รุ่นประกอบในประเทศ จากนั้นจะเป็นคิวของ ซี-คลาส โฉมใหม่ W206
ส่วนรถยนต์รุ่นใหม่ของบีเอ็มดับเบิลยู ที่จะเป็นไฮไลต์ในไตรมาสแรกของปีนี้ คือ BMW i4 รถพลังงานไฟฟ้า 100% วางแบตเตอรี่ 80.7 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร
ยอดจดทะเบียนรถพรีเมี่ยมแบรนด์ยุโรปในปี 2564 (รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 ที่นั่ง)
หมายเหตุ : ยอดจดทะเบียนรถใหม่ อาจจะรวมการขายรถของผู้นำเข้าอิสระ