2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจภาพรวม และอุตสาหกรรมยานยนต์โลก อ่วมจากวิกฤตโควิด-19 จนกระทั่งประเดิมศักราชใหม่ในปี 2565 ทุกเซกเตอร์เริ่มปรับตัว และคาดว่าสถานการณ์ต่างๆจะมีแนวโน้มดีขึ้น (แต่ยังไม่เท่าช่วงปกติ) ทั้งปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต (Chip Shortage) อุปสรรคด้านการ ขนส่ง ค่าระวางสินค้าสูงขึ้นตลอดจนต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตขยับตัวจากต้นทางคือพวกแร่และโลหะมีค่า
ถึงวันนี้ ปัญหาเศรษฐกิจและซัพพลายเชนของโลก ดูเหมือนจะยังไม่สามารถกลับมาอยู่ในเส้นทางที่หลายฝ่ายคาดหวัง จากสงครามที่รัสเซียก่อขึ้น
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ประเมินว่าตลาดในประเทศและส่งออกจะฟื้นตัว พร้อมตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2565 ไว้ 1.8 ล้านคัน (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ทำได้ 1.68 ล้านคัน) ในจำนวนนี้เป็นยอดส่งออก 1 ล้านคัน
รายงานจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนมกราคม 2565 (ก่อนรัสเซียบุกยูเครน) ระบุว่า เดือนธันวาคม ปี 2564 สามารถส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ได้ 101,307 คัน สูงสุดในรอบ 9 เดือน หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา 2.5% และเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2563 ถึง 48% จากการที่โรงงานผลิตได้รับเซมิคอนดั๊กเตอร์และชิ้นส่วนมากขึ้น จนสามารถส่งออกรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นทุกตลาด
โดยเฉพาะตลาดออสเตรเลียและโอเชียเนีย ขยายตัว 102% ยุโรปขยายตัว 65% ตลาดอเมริกา เหนือขยายตัว 55% ตลาดอเมริกากลางและอเมริกาใต้ขยายตัว 122% ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ขณะเดียวกันไทยยังส่งออกเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทว่า เมื่อสงครามปะทุขึ้นหลายประเทศเริ่มมีมาตรการควํ่าบาตรรัสเซีย เพื่อเพิ่มอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ตัดท่อนํ้าเลี้ยงรัฐบาลเครมลิน แต่ในทางกลับกันประเทศที่ออกมาตรการแซงชันนั้น ย่อมได้รับผลกระทบจากวงจรที่ไม่สามารถดำเนินได้ตามปกติเช่นกัน
ทั้งนี้ ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประกาศหยุดการผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น 1 วัน หลังจากซัพพลายเออร์รายใหญ่ KOJIMA INDUSTRIES CORPORATION ผู้ป้อนชิ้นส่วน พลาสติก และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่โรงงานโตโยต้า โดนโจมตีทางไซเบอร์
โดยโรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้าในญี่ปุ่น 14 แห่ง รวม 28 สายการผลิต จำเป็นต้องหยุดทำงานในวันที่ 1 มีนาคม 2565 และกลับมาผลิตอีกครั้งในวันที่ 2 มีนาคม 2565 ซึ่งประเด็นนี้มีผู้สันทัดกรณี ตั้งข้อสงสัยว่า อาจจะมีส่วนจากการที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น “คิชิดะ ฟูมิโอะ” ออกมาประกาศควํ่าบาตรรัสเซีย ผ่านมาตรการต่างๆ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย เปิดเผยว่า หากสงครามรัสเซียและยูเครนรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาด ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกสูงขึ้น นอกจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของทั้งรัสเซียและยูเครนแล้ว ยังทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากราคานํ้ามันดิบและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นมาก
“ราคานํ้ามันดิบปรับตัวขึ้นสูงสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตแพงขึ้นมาก เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน และอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมลดลงได้” นายสนั่นกล่าว
...ซัพพลายเชนโลกยังป่วน ปัญหาต้นทุนในการผลิตพุ่ง นํ้ามันแพง เงินเฟ้อ ขณะที่อุตสากรรมยานยนต์อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ล้วนเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในยุคนี้