มาตรการส่งเสริม EV ล่าสุดของรัฐบาล ไม่ได้ทำให้ฮอนด้าเปลี่ยนแผนงานรถยนต์ไฟฟ้าประเภทไฮบริดและ EV ฮอนด้าที่เคยวางเอาไว้
ตามที่รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าประเภท EV ในวาระเร่งด่วน ระหว่างปี 2565-2568 โดยลดทั้งภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต และให้เงินสนับสนุนสูงสุดคันละ 150,000 บาท แต่มีเงื่อนไขว่า ถึงปี 2567 ค่ายรถที่ใช้สิทธิ์นี้ต้องมีแผนประกอบในประเทศชดเชยจำนวนที่เท่ากับการนำเข้า และหากช้าไปเป็นปี 2568 ต้องประกอบคืน 1.5 เท่า
สำหรับค่ายรถยนต์ที่ประกาศเข้าร่วมในมาตรการ EV นี้แน่นอนคือ เอ็มจี, เกรท วอลล์มอเตอร์ และโตโยต้า โดย 2 ค่ายแรกเซ็นบันทึกความเข้าใจ MOU กับกรมสรรพสามิตแล้ว ส่วนค่ายพี่ใหญ่จากญี่ปุ่นจะเข้าไปดำเนินการให้เรียบร้อยเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ โตโยต้าเตรียมนำเข้า Toyota bZ4X เอสยูวีพลังงานไฟฟ้า 100% มาทำตลาดในไทยช่วงปลายปี 2565 ก่อนมีแผนประกอบชดเชยในปี 2568 และถ้า EV รุ่นนี้เปิดราคาขายตํ่ากว่า2บาทจะได้รับเงินสนับสนุน 150,000 บาท และที่สำคัญคือการผลิตในประเทศเพื่อชดเชยกับการนำเข้าจะเป็น EV รุ่นไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้อง Toyota bZ4X (แต่กรณี EV เกิน 2 ล้านบาท ต้องผลิตตรงกับรุ่นที่นำเข้ามาก่อนหน้า)
นอกจาก 3 ค่ายรถยนต์นี้แล้วยังมีอีกหลายค่ายจ่อคิวเข้าไปพูดคุยในรายละเอียดกับกรมสรรพสามิต โดยเฉพาะค่ายน้องใหม่จากจีนส่วนค่ายญี่ปุ่นที่มีแผนทำตลาด EV ในไทยอย่าง “ฮอนด้า” และ “นิสสัน” ยังไม่ขอเข้าร่วมในมาตรการนี้
แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงของฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานยานยนต์” ว่า มาตรการส่งเสริม EV ล่าสุดของรัฐบาลไม่ได้ทำให้ฮอนด้าเปลี่ยนแผนงานรถยนต์ไฟฟ้า ประเภทไฮบริดและ EV ฮอนด้า ที่เคยวางเอาไว้ โดยทุกอย่างยังดำเนินไปตามกำหนดเดิม
“เรายื่นแผนส่งเสริมการลงทุนต่อบีโอไอซึ่งตามกำหนดเราจะผลิต ฮอนด้า EV ในไทยปี 2568” แหล่งข่าวกล่าว
ด้านนิสสันที่เป็นผู้บุกเบิกการทำตลาด EV ในระดับโลกกับ Nissan Leaf แต่เมืองไทยยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และเตรียมหยุดการทำตลาดในเวอร์ชันนี้เมื่อรถหมดสต็อกที่ดีลเลอร์ปัจจุบันลดราคาลงมาเหลือ 1.49 ล้านบาท ไม่รวมส่วนลดอีก 2 แสนบาท
ส่วนรุ่นใหม่ Nissan Ariya ตามกำหนดเดิมนิสสันเตรียมนำเข้ามาเปิดตัวภายในปี 2565 ขณะที่แผน การประกอบ EV ในไทยยังไม่มีความชัดเจนด้วยสถานการณ์ของบริษัทแม่นิสสันมอเตอร์ประเทศญี่ปุ่นที่ต้องรัดเข็มขัดและปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ซึ่งไทยจะเป็นฐานผลิตสำคัญของปิกอัพอีโคคาร์และรถขุมพลังอี-พาวเวอร์ (ไฮบริด)
ดังนั้น นิสสันจะนำเข้า Nissan Ariya มาจากญี่ปุ่นด้วยการเสียภาษีนำเข้า 20% และภาษีสรรพสามิต 8% (ไม่รวมภาษีอื่นๆ) โดยยังไม่มีแผนประกอบ EV ที่โรงงานจังหวัดสมุทรปราการ
สำหรับมาตรการส่งเสริมให้เกิดการใช้ EV ในวาระเร่งด่วนรัฐบาลหวังเป็นการจุดพลุให้กับยุคใหม่ยานยนต์ไฟฟ้าและสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เข้มแข็งโดยตั้งเป้าหมายการผลิต EV ในปี 2573 ให้ได้สัดส่วน 30% จากกำลังการผลิตรถยนต์ทั้งหมดที่คาดว่าปีนั้นจะทำได้กว่า 2 ล้านคันแบ่งเป็น EV ประมาณ 7.25 แสนคัน
ขณะเดียวกันมาตรการนี้จะส่งเสริมให้ยอดขาย EV ในไทยโตแบบก้าวกระโดด คาดว่า ยอดขายในปี 2565 จะถึง 1 หมื่นคัน