ขณะที่ยอดขายเอ็มจี 8 ปีที่ผ่านมาเติบโตต่อเนื่อง หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 29.2% ทุกปี จาก 204 คันในปีแรก พ.ศ. 2557 ที่มีรถยนต์เพียง 1 รุ่น จนมาถึงปี 2564 ทำตลาดรถยนต์รวมเกือบ 10 รุ่น MG สามารถทำยอดขายได้ 31,005 คัน โต 9.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่ง สวนทางกับสถานการณ์ตลาดรวม (ติดลบ 4%) และบรรดาคู่แข่งที่ยอดขาย ลดลงถ้วนหน้าจากวิกฤตโควิด-19
การก้าวกระโดดของยอดขายเอ็มจี และการขยายเครือข่ายผู้จำหน่ายครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 150 แห่ง สะท้อนความมั่นใจของคู่ค้า (ดีลเลอร์) และลูกค้าที่เปิดใจรับรถยนต์แบรนด์น้องใหม่ได้เป็นอย่างดี แม้เอ็มจีซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือ SAIC ยักษ์ใหญ่จากจีน จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยไม่ถึง 10 ปีก็ตาม
มากไปกว่านั้น ด้วยแผนธุรกิจและกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่เอ็มจีนำมาใช้แล้วได้การตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวไทย ยังถือเป็นการกรุยทางให้กับแบรนด์รถยนต์รายอื่นๆ ของจีน ที่ทยอยตบเท้าตามมาแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในไทย ด้วยคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จดั่งเช่น เอ็มจี
ขณะที่บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ครองส่วนแบ่งการตลาดรวมกันถึง 90% และส่วนใหญ่ทำธุรกิจในไทยมาเกิน 50 ปี แต่เอ็มจีถือเป็นผู้เข้ามาเป็น Game Changer หรือ Changemaker ในตลาดรถยนต์ไทย โดยสร้างมาตรฐานใหม่ ทั้งความจริงใจในการแนะนำโปรดักต์ที่มาพร้อมเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ๆ ยกระดับการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอก-ภายใน เพิ่มฟังก์ชันอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย พร้อมตั้งราคาขายที่เข้าถึงได้ง่าย
นายจาง ไห่โป กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เอ็มจีตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ยุคใหม่ อันจะนำมาซึ่งการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการผสมผสานความลงตัวของเทคโนโลยี ความทันสมัย และคุณค่า เพื่อทลายกรอบความคิดเดิมๆ และพิสูจน์ให้เห็นว่ารถที่ดีต้องมอบประโยชน์สูงสุดให้กับผู้บริโภค และทำให้คนไทยมีทางเลือกในการเข้าถึงรถยนต์ที่มาพร้อมนวัตกรรมในราคาที่เข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ทิศทางของอุตสาห กรรมยานยนต์โลก ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีการติดตั้งเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการขับขี่ (Autonomous) การเชื่อมต่อระหว่างคนและรถ (Connectivity) การใช้งานรถร่วมกัน (Sharing Economy) รวมถึงการที่โลกกำลังเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจพลังงาน สะอาด (Green Economy) และให้ความสำคัญกับ Emission Standard จึงทำให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เติบโตอย่างก้าวกระโดด
“เอ็มจีเป็นบริษัทจากจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด ระดับหลายหมื่นล้านบาทตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจในไทยเมื่อ 8 ปีที่แล้ว และยังมีแผนเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ ล่าลุดลงทุนเพิ่ม 2,500 ล้านบาท เพื่อขยายโรงงานผลิตแบตเตอรี่เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพีในไทย เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และ EV โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 ซึ่งเป็นปีเดียวกับการเริ่มผลิต EV ในไทย” นายจาง กล่าวปิดท้าย
...นั่นคือความมุ่งมั่นของเอ็มจี ที่พร้อมส่งมอบประสบการณ์การใช้รถที่ดียิ่งขึ้นให้กับคนไทย โดยกล้าลงมือทำในสิ่งที่แตกต่าง สร้างสรรค์และนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงและผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ยุคใหม่ ให้ทัดเทียมอุตสาหกรรมยานยนต์โลก