ส่องอนาคต ‘โตโยต้า’ ในอุ้งมือ ‘โคจิ ซาโตะ’ว่าที่ CEOคนใหม่

30 ม.ค. 2566 | 20:41 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ม.ค. 2566 | 23:53 น.

'โคจิ ซาโตะ' ว่าที่ CEO คนใหม่ของโตโยต้า วัย 53 ปี กำลังจะขึ้นกุมบังเหียนค่ายรถยนต์เบอร์ 1 ของโลกรายนี้ เพื่อเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว

 

เป็นข่าวฮือฮาใน แวดวงยานยนต์ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ นายอาคิโอะ โตโยดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ประเทศญี่ปุ่น ประกาศเตรียมวางมือจากตำแหน่งซีอีโอบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ระดับโลกรายนี้ โดยระบุว่าถึงเวลาแล้วที่จะมอบ “กุญแจ” ให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่อาจจะมีไอเดียใหม่ๆ เป็นผู้ “ขับเคลื่อน” องค์กรสู่อนาคต และคนรุ่นใหม่ที่เขาหมายถึงก็คือ นายโคจิ ซาโตะ วัย 53 ปี ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่เติบโตมาจากสายงานวิศวกรรมยานยนต์   

 

นายโคจิ ซาโตะ จะรับตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ของโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 1 เม.ย.2566

ถึงเวลาส่งไม้ต่อให้ผู้นำรุ่นใหม่

รายงานข่าวระบุว่า โคจิ ซาโตะ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานหน่วยธุรกิจรถยนต์หรู เล็กซัส (Lexus) จะขึ้นกุมบังเหียนเป็นซีอีโอของโตโยต้าในวันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป แม้ยังไม่มีรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับแผนการขับเคลื่อนองค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก แต่หากดูจากโปรไฟล์การทำงานของซาโตะ เชื่อแน่ได้ว่า เขาจะนำพาโตโยต้าเข้าสู่ยุคของรถยนต์พลังงานสะอาดได้อย่างสง่างาม เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาคนนี้คือผู้ผลักดันให้เกิดรถเล็กซัสรุ่นขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% เป็นคันแรก (ภายใต้ชื่อรุ่น RZ) และกำลังกำกับดูแลโครงการพัฒนารถยนต์พลังงานไฮโดรเจนของโตโยต้า

รถยนต์ไฟฟ้ารุ่น RZ  ผลงานภายใต้การกำกับดูแลของซาโตะ

นายอาคิโอะ โตโยดะ วัย 66 ปี ซีอีโอคนปัจจุบันที่เป็นหลานชายของผู้ก่อตั้งอาณาจักรโตโยต้า ดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2552 และกำลังจะวางมือจากตำแหน่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัทเพียงตำแหน่งเดียว เขากล่าวถึงนายซาโตะที่กำลังจะรับไม้ต่อ ว่า “เรากำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ร้อยปีจึงจะเกิดสักครั้ง จึงถึงเวลาควรจะมอบตำแหน่งที่เหมาะสมให้กับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เพื่อให้พวกเขานำเสนอความคิดใหม่ๆว่าอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ควรจะเป็นไปอย่างไร”

การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในครั้งนี้ เกิดขึ้นในขณะที่โตโยต้าเองกำลังเริ่มแสวงหาโอกาสในตลาดยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้เองโดยอัตโนมัติ และรถอัจฉริยะที่สามารถเชื่อมต่อการทำงานกับอินเทอร์เน็ต ขณะที่บริษัทรถยนต์รายอื่นๆที่เป็นคู่แข่งเผยโฉมรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบไปหลายรุ่นแล้วรวมทั้งรุ่นในอนาคต

 

อาคิโอะ โตโยดะ วัย 66 ปี ซีอีโอคนปัจจุบัน เป็นหลานชายของผู้ก่อตั้งอาณาจักรโตโยต้า

 

โตโยดะซึ่งถือตัวเองเป็นคนรุ่นเก่า ยังแสดงความสงสัยในหลายครั้งว่า ยานยนต์ไฟฟ้านั้นยังมีจุดด้อยหลายประการ เช่นในบางพื้นที่ยังมีสถานีชาร์จไฟฟ้าน้อย และการประจุไฟฟ้าให้รถอีวีก็ยังต้องพึ่งพาไฟฟ้าที่ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าอาจยังปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ รวมทั้งจุดด้อยที่ว่า วัสดุที่ต้องใช้ในการผลิตรถยนต์อีวี เช่น ลิเธียมสำหรับผลิตแบตเตอรี่ ก็ยังคงมีราคาสูง ตัวเขาเองเห็นว่า ผู้บริโภคยังควรมีทางเลือกก่อนจะลงไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ โดยทางเลือกที่ว่าได้แก่ รถยนต์ไฮบริดซึ่งยังใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า อันเป็นนวัตกรรมของโตโยต้า และรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฮโดรเจน เป็นต้น

ความลังเลดังกล่าว ทำให้โตโยต้า(รวมทั้งแผนกเล็กซัส) ทำยอดขายจากรถยนต์อีวีเพียงไม่ถึง 1% จากยอดขายทั้งหมดในปีที่ผ่านมา (นับจากม.ค. ถึง พ.ย.2565)

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลง ณ ขณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เพื่อนำโตโยต้าไปสู่อนาคตของตลาดรถยนต์ที่มุ่งไปในทิศทางของพลังงานสะอาด นายโตโยดะที่กำลังจะลงจากตำแหน่งซีอีโอในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ได้ปูพื้นฐานไว้ให้ซีอีโอคนใหม่เข้ามาสานต่อ ด้วยการ

  • วางแผนใช้งบหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐกับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในช่วง 10 ปีข้างหน้า นั่นหมายรวมถึงการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถอีวีที่รัฐนอร์ธแคโรไลนาของสหรัฐอเมริกาด้วยงบลงทุน 3,800 ล้านดอลลาร์
  • พร้อมกันนี้ โตโยต้ายังตั้งเป้าหมายทำยอดขายรถอีวีที่ระดับ 3.5 ล้านคันต่อปีให้ได้ภายในปีค.ศ. 2030 หรือในอีกราว 7 ปีข้างหน้า
  • อีกสิ่งที่โตโยดะดำเนินการไว้เพื่อให้โคจิ ซาโตะ ซีอีโอคนใหม่สานต่อ ก็คือ การผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดของโตโยต้า โดยในปี 2018 (พ.ศ.2561) ที่ผ่านมา บริษัทได้จับมือกับพานาโซนิค โฮลดิ้งส์ คอร์ป พัฒนาแบตเตอรี่รถอีวีร่วมกัน และยังได้ก่อตั้งหน่วยธุรกิจ วูฟเวน พลาเน็ต (Woven Planet) พัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และยานยนต์อัจฉริยะ
  • นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าระยะยาว โดยกำหนดให้ปี 2035 (พ.ศ.2578) เป็นปีที่รถหรูตระกูลเล็กซัสของโตโยต้าต้องเป็นยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งผู้ที่ดูแลแผนกธุรกิจเล็กซัสในปัจจุบัน ก็คือ โคจิ ซาโตะ ว่าที่ซีอีโอคนใหม่นั่นเอง    

มาทำความรู้จัก ‘โคจิ ซาโตะ’ กันหน่อย             

ในวันที่มีการประกาศวางตัวซีอีโอคนใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา(26 ม.ค.)  โตโยดะกล่าวว่า โคจิ ซาโตะ เป็นตัวเลือกเพราะเขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำงานหนักเพื่อเรียนรู้ปรัชญาของโตโยต้า และยังว่า “ตำแหน่งซีอีโอนั้นต้องการความเยาว์วัย พละกำลัง และความแข็งแกร่ง”

โคจิ ซาโตะ เกิดเมื่อปี ค.ศ.1969 (พ.ศ.2512) จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเครื่องกลจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น   

เขาเริ่มต้นเส้นทางสายอาชีพที่บริษัทโตโยต้าเมื่อปี ค.ศ. 1992 ก่อนจะไต่ขึ้นมาตามลำดับโครงสร้างของบริษัทจนได้เป็นหัวหน้าวิศวกรของแผนกธุรกิจเล็กซัสตลาดโลก (Lexus International) ในปี ค.ศ 2016

ข้อมูลประวัติของเขาที่ปรากฏเผยแพร่บนเว็บไซต์ทางการของโตโยต้า ยังระบุด้วยว่า ซาโตะเริ่มรับตำแหน่งประธานหน่วยธุรกิจรถเล็กซัส และ Gazoo Racing Company ซึ่งเป็นแบรนด์รถแข่งของโตโยต้า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 ก่อนจะขยายมาควบหน้าที่ประธานบริหารฝ่ายแบรนด์ของโตโยต้าในปี ค.ศ. 2021

เมื่อย้อนดูประวัติการทำงานของซาโตะจะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่เข้าทำงานกับโตโยต้าในวัย 23 ปีจนมาถึงขณะนี้วัย 53 ปี เขาทำงานเป็นลูกหม้อของบริษัทมาโดยตลอด และนั่นก็เป็นลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนที่จะก้าวขึ้นเป็นซีอีโอของบริษัทญี่ปุ่น

ซาโตะกล่าวว่า แผนของเขาสำหรับโตโยต้าก็คือ การ “เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่าน” ไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นอนาคตแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ซึ่งตัวเขาเองก็รับปาก ว่าจะทุ่มเททุกสรรพกำลังเพื่อพาโตโยต้าไปสู่อนาคตดังกล่าวนั้น

 

ปัจจุบัน โตโยต้าเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกในแง่ปริมาณยอดขาย

ปัจจุบัน โตโยต้าเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกในแง่ยอดขาย และเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ทำกำไรสุทธิในปีการเงินล่าสุดมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

เมื่อเร็ว ๆนี้ โตโยต้าแถลงยอดขายทั่วโลกในปีที่ผ่านมา (2566) ที่ 10.5 ล้านคัน สามารถป้องกันตำแหน่งผู้ผลิตรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในโลก (ในแง่ปริมาณยอดขาย) เป็นปีที่สามติดต่อกัน

ยอดขายทั่วโลกของโตโยต้าซึ่งรวมถึงรถบรรทุกฮีโน (Hino Motors) และผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก “ไดฮัตสุ” ลดลง 0.1% แต่ยอดขายในต่างประเทศ 8.6 ล้านคันช่วยชดเชยการลดลง 9.6% ของตลาดในประเทศญี่ปุ่น ที่มียอดขายรวม 1.9 ล้านคัน  ขณะที่โฟล์คสวาเกน กรุ๊ป คู่แข่งรายใหญ่ของโตโยต้า รายงานยอดขายในปี 2565 ที่ต่ำที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ คือ 8.3 ล้านคัน อันเป็นผลกระทบจากนโยบายควบคุมโควิด-19 ในจีน และสงครามในยูเครนทำให้ห่วงโซ่อุปทานเพิ่มขึ้น