โตโยต้า มุ่งสู่แผนงานสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ยกโมเดลต้นแบบจากญี่ปุ่น มาทำโครงการต่างๆ ในประเทศไทย ทั้งร่วมมือกับเมืองพัทยา นำรถยนต์ไฟฟ้ามาทดลองวิ่ง พร้อมประสาน ปตท.ช่วยสร้างสถานีเติมไฮโดรเจน และล่าสุดกับซีพี ที่เตรียมผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากของเสียในฟาร์ม เพื่อนำมาเป็นพลังงานขับเคลื่อนรถบรรทุกไฟฟ้า FCEV
จากโมเดลฟื้นฟูจังหวัดฟุกุชิมะ ที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อ 11 ปีก่อน ด้วยการตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนรายใหญ่ ให้เข้ามาร่วมลงทุนสร้างเครือข่าย พัฒนาระบบนิเวศน์ในแนวทางที่ตนเองถนัด หวังพลิกฟื้นพื้นที่แห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
โครงการต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชูโดยภาคเอกชน อาจจะมองเหมือนการทำ CSR ของบริษัท แต่ถ้าวัดความสุขของคนในพื้นที่ย่อมถือว่าคุ้มค่า เพราะจากที่เคยหัวใจแหลกสลายจากการสูญเสีย หรือต่างอพยพแยกย้ายออกนอกพื้นที่ไปแล้ว แต่ด้วยโครงการเหล่านี้ ทำให้หลายครอบครัวได้กลับมาใช้ชีวิตบนแผ่นดินเกิดอีกครั้ง (ระบบนิเวศน์ดีขึ้น และมีการจ้างงาน)
นอกเหนือจากฐานการผลิตใหม่ที่โตโยต้า ลงทุนเพิ่มเติมในนาม Toyota Motor East Japan ในจังหวัดมิยางิ (อยู่เหนือขึ้นไปจากฟุกุชิมะ) โตโยต้า และพันธมิตร ยังมุ่งสร้างโครง การผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งมีไฮโดรเจนเป็นศูนย์กลาง โดยมีโรงงาน Fukushima Hydrogen Energy Research Field ที่ผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียนในธรรมชาติ (ใช้ไฟฟ้าที่ได้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ มาแยกไฮโดรเจนออกจากนํ้า) ตลอดจนโครงการนำ ร่องที่ร่วมกับเทศบาลเมืองนามิเอะ ที่ใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นพลังงานขับเคลื่อนชุมชน
จากโมเดลเพื่อสิ่งแวดล้อมในฟุกุชิมะ กำลังถ่ายทอดมาสู่ประเทศไทย โดยโตโยต้าเริ่มเปิดโครงการต่างๆ ร่วมกับพันธมิตร เพื่อเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของบริษัทในปี 2050 แม้จะมีมิติย่อมย่อลงมาจากญี่ปุ่น แต่ถือเป็นสเกลที่ใหญ่และมีรายละเอียดในเชิงลึกมากที่สุดในอาเซียน
ในการแข่งขันรายการ IDEMITSU 1500 SUPER ENDURANCE 2022 ที่ สนามช้างฯ จ.บุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคมที่ผ่านมา “อากิโอะ โตโยดะ” นายใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น (ทีเอ็มซี) ร่วมทำการแข่งขันด้วยตนเองกับรถ GR Corolla H2 concept ที่ใช้เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ซึ่งเพอร์ฟอร์มของ “โมริโซะ” (ชื่อในการแข่งรถของ โตโยดะ) ครั้งนี้ ได้ส่งสัญญาณไปถึงทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ คู่ค้า ลูกค้า และคู่แข่ง ว่าโตโยต้าจริงจังกับการพัฒนารถไฮโดรเจน ภายใต้นโยบาย มุ่งสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ขนาดไหน
สำหรับการแข่งขัน ENDURANCE รายการดังกล่าว มีรถเข้าร่วม 64 คัน โดยกำหนดเวลาไว้ 25 ชั่วโมง ใครวิ่งทำรอบได้มากที่สุดถือเป็นผู้ชนะเลิศ โดยทีม ORC ROOKIE ที่ “อากิโอะ โตโยดะ” เป็นเจ้าของส่งรถเข้าร่วม 2 คันคือ GR Corolla H2 concept เครื่องยนต์ 3 สูบ 1.6 ลิตร เทอร์โบ ใช้พลังงานไฮโดรเจน และ GR86 CNF Concept ที่ใช้พลังงานสังเคราะห์ e-Fuel
โดย “โมริโซะ” และลูกทีมของเขา (มาซาฮิโระ ซาซาคิด, ฮิโรอะคิ อิชิอุระ และ ยาซูฮิโระ โอกูระ) จะลงแข่งเพียง 4 ชั่วโมงแรก และ 4 ชั่วโมงสุดท้ายของเรซเท่านั้น สุดท้าย ORC ROOKIE GR Corolla H2 concept ได้อันดับ 3 ในคลาสรถขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิง พลังงานที่เป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutral Power Cup ด้วยการวิ่งไป 152 รอบ
ส่วนรถอีกคันของทีม ORC ROOKIE GR86 วิ่งได้ 230 รอบ และอันดับหนึ่งในคลาสนี้เป็น GR86 จากทีม Toyota Gazoo Racing Team Thailand วิ่งได้ 443 รอบ
ขณะที่แชมป์โอเวอร์ออลของ IDEMITSU 1500 SUPER ENDURANCE 25 ชั่วโมง คือ PEUGEOT 308 จากทีม YK MOTORSPORTS BILLIONAIRE BOY BY SUNO ที่วิ่งไปถึง 711 รอบ
การร่วมแข่งขันในรายการนี้ของทีม ORC ROOKIE ชัดเจนว่าเน้นเข้าร่วม ไม่เน้นนับรอบเพื่อชนะเลิศ (รถขับได้ประมาณ 10 รอบสนามช้าง ก็ต้องเข้ามาเติมไฮโดรเจนหนึ่งครั้งโดยใช้เวลา 5 นาที) แต่ประเด็นสำคัญคือ การทดสอบเทคโนโลยี พัฒนารถพลังงานไฮโดรเจนผ่านรายการมอเตอร์สปอร์ต ซึ่งจะได้เก็บข้อมูลด้านการใช้งาน ความอึด ถึกทน และความสามารถในการเติมไฮโดรเจน พร้อมสร้างความมั่นใจให้โลกเห็น เมื่อประธานโตโยต้าลงแข่งด้วยตนเอง
ในสัปดาห์มอเตอร์สปอร์ต กลางเดือนธันวาคม 2565 ที่ จ.บุรีรัมย์ โตโยต้าโชว์ศักยภาพของรถไฮโดรเจนผ่านในสนามแข่ง และนำรถหลายรุ่นออกมาโชว์ตัวนอกญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เช่น Toyota Corolla Cross H2 Concept รถต้นแบบที่ใช้เครื่องยนต์บล็อกเดียวกับ GR Corolla H2 concept (นำเครื่อง ยนต์เบนซินที่ขายอยู่ในตลาดคือ GR Yaris มาพัฒนาให้รอง รับพลังงานไฮโดรเจน) วางถังไฮโดรเจน 2 ใบ บรรจุได้ 3.5 กิโลกรัม ปลายท่อไอเสียไม่ ปล่อย CO2
นอกจากนี้ ยังจัดแสดงนิทรรศการเต็มรูปแบบ เหมือนยกโมเดลมาจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า FCEV อย่าง Toyota Mirai ผ่าครึ่งคัน รถตู้ Toyota Majesty รวมถึงรถฟอร์คลิฟต์ และรถเครื่องยนต์ไฮโดรเจนที่ลงในสนามแข่งมาก่อนอย่าง GR Yaris H2 Concept
ตลอดจนรถพลังงานไฟฟ้า 100% อย่าง Toyota bZ4X และปิกอัพ EV Toyota Hilux Revo BEV ที่เตรียมขึ้นไลน์ผลิตและทำตลาดในไทยปลายปี 2566 รวมถึงรถปลั๊ก-อินไฮบริดอย่าง Toyota Prius Prime
อีเวนต์ใหญ่ของโตโยต้าครั้งนี้ สอดคล้องกับการฉลองครบรอบ 60 ปีในไทย ที่มีการแถลงข่าวใหญ่ในกรุงเทพ และการเข้าร่วมรายการมอเตอร์สปอร์ต ซึ่งโตโยต้าวางเป้าหมายเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ที่หลากหลาย หรือ Multi Pathway ซึ่งในส่วนของโปรดักต์โตโยต้า ยังมุ่งเน้นทั้ง ไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด อีวี รถยนต์ไฟฟ้าฟิวเซลล์ รวมถึงลูกรักคนใหม่รถเครื่องยนต์ไฮโดรเจน
“เมื่อเอ่ยถึงการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน เราต้องเข้าใจว่า คาร์บอนคือศัตรูตัวจริง ไม่ใช่ระบบขับเคลื่อนแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ ว่ากันตามตรงแล้วรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไม่ใช่แค่ทางเลือกเดียว ที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายในระดับโลก ที่โตโยต้า เราเชื่อในการสร้างสรรค์รถยนต์ให้ครบทุกประเภท เพื่อเป็นทางเลือกในการช่วยลดคาร์บอนสำหรับลูกค้าของเรา ตั้งแต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบไฮบริด รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง” นายโตโยดะ กล่าวและว่า
โตโยต้า ยังมุ่งพัฒนา ทางเลือกอื่นๆ ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน อย่าง GR-Yaris และ GR-Corolla ซึ่งเป็นรถต้นแบบที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน ผมยังคงเชื่อว่า ในขณะที่เราพยายามเดินหน้าสร้างอนาคตที่ยั่งยืนเราจำเป็นต้องใช้แนวทางแบบ องค์รวมเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนร่วมกัน ขณะเดียวกันเราจำเป็นต้องดำเนินงานร่วมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย
ดังนั้น โตโยต้าจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศแนะนำพันธมิตรใหม่ของเราคือบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนั่นคือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยเราจะร่วมมือกันในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ โดยคิดทบทวนถึงวิธีการส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภค ด้วยเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างรถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิง และด้วยการพัฒนาให้ระบบการขนส่งด้วยรถยนต์ประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อของเรา
ภายใต้ความร่วมมือนี้ เราจะยกระดับความพยายามของซีพีในปัจจุบันในการผลิตไฮโดรเจนสะอาดจากชีวมวล เช่น มูลไก่ อีกด้วย ผมตั้งตารอที่จะได้ร่วมกับซีพี นำจุดแข็งที่เรามีอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์แก่ประเทศและผู้คนให้มากยิ่งขึ้น
“เราจะดำเนินการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นและช่วยเหลือคนไทยต่อไป อาจเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ แต่ไม่มีอะไรทำให้เรานึกถึงประเทศไทยได้มากไปกว่านํ้าท่วมในปี พ.ศ. 2554 ความกล้าหาญและความมุ่งมั่นของทุกคนที่เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทำให้โตโยต้ามีความเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศไทย นั่นคือเหตุผลที่โตโยต้าได้เพิ่มการลงทุนในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่นั้นมา” นายโตโยดะกล่าวสรุป
ที่ผ่านมา โตโยต้ายังทำโครงการ Decarbonized Sustainable City ร่วมกับเมืองพัทยา จัดตั้งเมืองที่ยั่งยืนโดยปราศจากมลภาวะ ที่ดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับผังเมืองพัทยาเพื่อมุ่งสู่การเป็น “สมาร์ท ซิตี้” ด้วยการนำรถยนต์พลังงานทางเลือก ทั้ง ไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด อีวี
ล่าสุด นำเข้า Toyota Mirai รถยนต์ไฟฟ้า FCEV มาวิ่ง รับ-ส่งผู้โดยสาร ระหว่างสนามบิน อู่ตะเภาและพัทยา พร้อมเปิดสถานีเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ ไฟฟ้าแห่งแรกในเมืองไทย ที่ อ.บางละมุง ซึ่งได้รับความร่วมมือกับ ปตท.และ บีไอจี
ภายใต้ยุทธศาสตร์ Multi Pathway ในการบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งโตโยต้ายืนยันว่าจะนำผลการศึกษาเหล่านี้ ไปเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนพัฒนารถยนต์พลังงาน ทางเลือกที่เหมาะสมเข้ามาผลิตและทำตลาดในไทยต่อไป