ตลาดรถยนต์ไทยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม -กันยายน 2567)ยอดขายร่วงต่อเนื่อง เฉพาะเดือนกันยายน 2567 ตลาดรวมทำยอดขายได้ทั้งสิน 39,048 คัน ลดลง 37.1% โดยในจำนวนนี้แบ่งออกเป็นตลาดรถยนต์นั่ง 15,668 คัน ลดลง 38.4% ในขณะที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 23,380 คัน ลดลง 36.2% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ยอดขาย 13,972 คัน ลดลง 40.1%
ตลาดรถยนต์รวม 39,048 คัน ลดลง 37.1%
ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 15,668 คัน ลดลง 38.4%
ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 23,380 คัน ลดลง 36.2%
ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*) 13,972 คัน ลดลง 40.1%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 2,463 คัน อีซูซุ 949 คัน - โตโยต้า 798 คัน – ฟอร์ด 574 คัน – มิตซูบิชิ 97 คัน – นิสสัน 45 คัน
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up 11,509 คัน ลดลง 39.8%
ขณะที่ตลาด xEV หรือกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า เดือนกันยายน 2567 มียอดขายทั้งหมด 13,102 คัน คิดเป็นสัดส่วน 34% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด ลดลง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยยอดขายรถยนต์ HEV มีอัตราการเติบโตลดลงเช่นกันที่ 11% แต่ยังคงสัดส่วนการขายสูงที่สุดในตลาดรถ xEV ด้วยยอดขาย 7,355 คัน คิดเป็น 56% ของตลาด xEV ทั้งหมด ในส่วนของรถยนต์ BEV ทำยอดขายได้ 4,982 คัน ลดลง 32% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ส่วนตัวเลขการขายรถสะสมตั้งแต่มกราคม -กันยายน 2567 ตลาดรถยนต์รวม มียอดขายทั้งสิ้น 438,659 คัน ลดลง 25.3% แบ่งออกเป็น ตลาดรถยนต์นั่ง 169,862 คัน ลดลง 22.7% ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ 268,797 คัน ลดลง 26.8% และ รถกระบะขนาด 1 ตัน ยอดขาย 153,504 คัน ลดลง 40%
ตลาดรถยนต์รวม 438,659 คัน ลดลง 25.3%
ตลาดรถยนต์นั่ง 169,862 คัน ลดลง 22.7%
ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ 268,797 คัน ลดลง 26.8%
ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*) 153,504 คัน ลดลง 40%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 26,944 คัน โตโยต้า 9,534 คัน - อีซูซุ 9,196 คัน - ฟอร์ด 6,138 คัน – มิตซูบิชิ 1,753 คัน – นิสสัน 323 คัน
ตลาดรถกระบะ Pure Pick up 126,560 คัน ลดลง 39.3 %
นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์เดือนตุลาคม มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากเดือนกันยายน แต่ยังคงเติบโตลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและผลกระทบจากภาวะอุทกภัย อย่างไรก็ตาม การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลาง รวมถึงการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่และโปรโมชันการขายที่น่าสนใจจากหลากหลายค่ายรถยนต์ อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดขายรถใหม่ในประเทศเดือนกันยายน 2567 ถือเป็นตัวเลขการขายที่ต่ำสุดในรอบ 53 เดือน หรือ 4 ปี 5 เดือน
ทั้งนี้เนื่องจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ซื้อรถยนต์ เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไตรมาสสองปี 2567 ที่โตต่ำ 2.3 % และคาดว่า 2567 จะเติบโตเพียง 2.7 - 2.8 %เท่านั้น ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2567 หดตัว 1.91 %ซึ่งสะท้อนถึงรายได้คนทำงานยังคงอ่อนแอ
"ปลายเดือนนี้จะมีการหารือเรื่องปรับเป้าหมายยอดการผลิตรถยนต์ของปีนี้ โดยจะปรับทั้งยอดส่งออกและยอดขายในประเทศ เพราะในส่วนของส่งออกนั้นได้รับผลกระทบจากสงครามตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้าง ประกอบกับประเทศคู่ค้ามียอดขายลดลง มีความระมัดระวังในการใช้จ่าย ส่วนการขายในประเทศ หลักๆยังคงมาจากหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง และทำให้สถาบันการเงินหรือแบงก์ไม่ปล่อยกู้"