รถจีนกลับลำมุ่งไฮบริด-ดีเซล ลุ้น EV ฟื้นยอดขายปลายปี

24 ต.ค. 2567 | 04:09 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2567 | 04:14 น.

ค่ายรถจีน ปรับกลยุทธ์โปรดักต์ใหม่ ไม่เน้น EV อย่างเดียว เตรียมขยายไลน์อัพไปที่รถยนต์ไฮบริด และเสริมทัพเครื่องยนต์ดีเซล ด้านตลาด EV ไม่โตตามเป้าหมาย รอลุ้นลูกค้าตัดสินใจซื้อปลายปี

ยอดขาย EV ในไทย 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.67) กว่า 5 หมื่นคัน ภาพรวมทำได้ต่ำกว่าที่คาดหมาย ซึ่งเดิมประเมินว่าตลาด EV ปีนี้ รวมทุกยี่ห้อจะมีมากกว่า 1 แสนคัน

 

สำหรับตลาดรถยนต์ไทย รวม 3 ไตรมาสของปี 2567 ปิดยอดขาย 4.3 แสนคัน ลดลด 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คาดว่าทั้งปีจะทำได้ 6 แสนคัน ในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนของ EV ประมาณ 12-13% โดยผู้บริหารค่ายรถยนต์จีนยอมรับว่า สาเหตุที่ตลาด EV ชะลอตัว นอกจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้ารอดูโปรโมชันช่วงปลายปี

รถจีนกลับลำมุ่งไฮบริด-ดีเซล ลุ้น EV ฟื้นยอดขายปลายปี

“ตลาด EV ยังมีแนวโน้มเติบโต แต่ต้องยอมรับเรื่องสงครามราคา มีส่วนให้ลูกค้าชะลอการตัดสินใจ เพราะคาดว่าปลายปีนี้ จะต้องมีส่วนลดเพิ่มเติม” แหล่งข่าวกล่าว

 

จากสภาพแวดล้อมทางการตลาดของไทย หลังจากค่ายจีนยุคใหม่เข้ามาบุกตลาดด้วย EV ทั้ง BYD Changan GAC และ Chery (กลุ่มแรกๆอย่าง MG และ GWM ยังขาย ICE และ Hybrid) แต่เพื่อสร้างความหลากหลาย และเพิ่มรายได้จากบริการหลังการขายในระยะยาว กลยุทธ์ของค่ายจีน จำเป็นต้องเพิ่มรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน รวมถึงขุมพลังไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด และ EV แบบขยายระยะทางการวิ่ง (มีเครื่องยนต์สร้างพลังงานไฟฟ้า)

 

สำหรับ BYD เตรียมเพิ่มไลน์อัพรถปลั๊ก-อินไฮบริด รุ่นใหม่ๆ ประกอบในประเทศมากขึ้น ประเดิมด้วย BYD SEALION 6 DM-i Super Hybrid เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ผสานการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังรวม 218 แรงม้า แรงบิด 300 นิวตันเมตร แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนความจุ 18.3 kWh วิ่งในโหมด EV ได้ระยะทาง 95 กม./ชาร์จ

 

BYD SEALION 6 ปลั๊ก-อินไฮบริด เป็นคอมแพกต์เอสยูวี 5 ที่นั่ง ตั้งราคาขายไว้ 939,900 บาท ซึ่งการเปิดราคาระดับนี้ ทำเอาคู่แข่งอย่าง Honda CR-V และ Haval H6 ต้องปรับตัวอย่างหนัก

ด้าน Changan ที่ทำตลาดในไทยผ่านแบรนด์ Deepal Lumin และ Avatr ปัจจุบันมีแต่รถพลังงานไฟฟ้า 100% แต่ต้นปี 2568 เตรียมขึ้นไลน์ประกอบ Deepal S05 ที่โรงงาน จ.ระยอง เป็นรุ่นแรก ซึ่งมีให้เลือกทั้ง EV และ REEV (EV แบบขยายระยะทางการวิ่ง มีเครื่องยนต์เติมน้ำมัน คอยช่วยปั่นไฟ)

รถจีนกลับลำมุ่งไฮบริด-ดีเซล ลุ้น EV ฟื้นยอดขายปลายปี

ขณะที่ Chery ทำตลาดด้วยแบรนด์ OMODA&JAECOO แย้มว่า นอกจากรถพลังงานไฟฟ้า OMODA C5 EV และ JAECOO 6 EV แล้ว บริษัทจะขึ้นไลน์ประกอบเอสยูวีไฮบริดด้วย

 

ทั้งนี้ เชอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทแม่ของ โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท คิงเจน จำกัด (มหาชน) สร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ด้วยเงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท วางกำลังการผลิตเฟสแรกไว้ 50,000 คันต่อปี และภายในปี 2571 จะขยายเป็น 80,000 คันต่อปี

 

ด้าน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประกาศชัดเจนถึงการปรับโครงสร้างองค์กร และกลยุทธ์ในไทยใหม่ ในส่วนของโปรดักต์ ยืนยันว่า จะต้องเสริมรถเครื่องยนต์ดีเซลในไลน์อัพ ที่จะเห็นความชัดเจนตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

 

โดยเกรท วอลล์ มอเตอร์ จะวางเครื่องยนต์ดีเซลใน TANK 300 และ GWM POER รถกระบะที่ตอนแรกเตรียมเปิดตัวในไทย ด้วยขุมพลังไฮบริด แต่ตอนนี้ต้องกลับไปปรับปรุงโปรดักต์ใหม่ และเลื่อนการทำตลาดไปเป็นปีหน้า

 

นายปาร์คเกอร์ ฉี ประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ ตลาดต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปี 2568 เตรียมเปิดตัว HAVAL H6 HEV และ PHEV ไมเนอร์เชนจ์ รวมถึง GWM TANK เครื่องยนต์ดีเซล

 

สำหรับบทบาทต่อจากนี้ของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ คือ การผลักดันให้ไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญเชิงกลยุทธ์ผ่านการลงทุนระยะยาว รวมถึงปรับเปลี่ยนการดำเนินงานหลากหลายด้านผ่านกลยุทธ์ด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการแข่งขันสูง