STRON ผนึกพันธมิตร ตั้งเป้าไทยศูนย์กลางผลิต SMART E-TUK

21 ธ.ค. 2565 | 10:33 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2565 | 17:51 น.

STRON สมบูรณ์ ทรอน เอนเนอร์จี ผนึกกำลัง E Tuk Factory ปั้นไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต SMART E-TUK พร้อมตั้งเป้าหมายส่งมอบรถ 100 คัน ภายในปีนี้และ 500 คันภายใน 2 ปีข้างหน้า

STRON หรือ บริษัท สมบูรณ์ ทรอน เอนเนอร์จี ผู้ผลิตรถสามล้อไฟฟ้าสัญชาติไทย เดินหน้ารุกตลาดด้วยการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเฉพาะห่วงโซ่อุปทาน - ผู้ประกอบการสถานีชาร์จ ผู้ประกอบการยานยนต์ ตลอดจนผู้ใช้งาน เพื่อรองรับความต้องการทางด้านยานยนต์ไฟฟ้าของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ล่าสุด STRON ได้ลงนามกับ บริษัท E-Tuk Factory ในข้อตกลงการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในฐานะศูนย์กลางการผลิตของ SMART E-TUK และร่วมมือในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาตลาดสำหรับ E-TUK เพื่อเจาะอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบริการในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถส่งมอบรถในประเทศได้มากกว่า 100 คัน ภายในปีนี้และ 500 คันภายใน 2 ปีข้างหน้า


 
สำหรับแพลตฟอร์ม E-TUK พัฒนาจากแพลตฟอร์มรถตุ๊กตุ๊ก พร้อมการปรับ เปลี่ยนแบบโมดูล่า (Modular Platform) รวมถึงเทคโนโลยีระบบ SMART แบตเตอรี่ พร้อมการติดตามอัจฉริยะ ตอบสนองการเติบโตความต้องการของตลาดต่อรถสามล้อไฟฟ้า 
 

STRON ลงนามกับ บริษัท E-Tuk Factory

นางสาวนภัสสร กิตะพาณิชย์ ประธาน STRON และ นาย วินเซนต์ แวน แคมเพน ประธาน E-Tuk Factory เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมโซลูชัน TUKTUK ไฟฟ้าที่ยั่งยืน สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการพัฒนาศูนย์กลางการผลิตในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้ E-TUK มีศูนย์กลางการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของ E-TUK จากประเทศต่างๆ นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาเทคโนโลยี EV ประเทศไทยนำสู่การเป็นศูนย์กลาง EV ในเอเชีย (EV Hub in Asia) 

 

"ข้อตกลงนี้เป็นการควบรวมจุดแข็งของบริษัท STRON ในอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ร่วมกับประสบการณ์ อันยาวนานของ ETUK ในด้านโซลูชันรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อยั่งยืน ด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับต่ำและเทคโนโลยีระดับสูงสำหรับการจัดการยานพาหนะอัจฉริยะ (Smart Fleet Management)"

 

นางสาวนภัสสร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี  2565 บริษัทฯ วางแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 2 กลุ่ม ได้แก่ รถโดยสารไฟฟ้า และรถ 3 ล้อไฟฟ้า โดยคาดว่าจะสามารถจัดส่งให้กับกลุ่มลูกค้าทั้ง กลุ่ม Logistic และการบริการอื่นๆ ในปีนี้ได้ 200 คัน และ 500 คันภายใน 2 ปี  ปัจจุบันกำลังการผลิตของ บริษัทฯ สามารถทำได้ถึง 1,000 คันต่อปี โดยการผลิตเพื่อการส่งออกจะอยู่ที่ประมาณ 75-80%

"ยานพาหนะทั้งสองประเภทได้รับการพัฒนา โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ใช้ มีการใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี LFP ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ตลาดเฉพาะในแบบต่างๆ (Niche Market) เพื่อส่งเสริมให้แพลตฟอร์มรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าในกรณีการใช้งานที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และการบริการ"

 


ทั้งนี้ STRON คาดว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดในตลาดรถสามล้อไฟฟ้า 50% ของตลาดเพื่อการขนส่งในประเทศไทย โดยปัจจุบันรถขนส่งระยะสั้นในประเทศไทยมีจำนวนราว 5 หมื่นคัน แบ่งเป็น รถจักรยานยนต์ 4 หมื่นคัน และรถกระบะเพื่อการพาณิชย์ จำนวน 1 หมื่นคัน ซึ่งคาดว่ารถสามล้อไฟฟ้าจะเข้าไปทดแทนและส่งเสริมให้กับบริษัทขนส่งได้เป็นอย่างดี เพื่อลดต้นทุนและลดภาวะโลกร้อนได้ตามในอุตสหกรรมต่างๆได้

 

รถสามล้อไฟฟ้า