ในรอบปี 2565 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเผชิญความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิต อันส่งผลโดยตรงกับแผนการผลิต และการส่งมอบรถให้แก่ลูกค้าที่ล่าช้า
แม้จะติดขัดเรื่องการส่งมอบ แต่ถ้าพิจารณายอดขายรถยนต์ที่ผ่านไป 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย. 65) ตลาดรวมทำได้ถึง 766,589 คัน เติบโต 14.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ดังนั้นยอดขายรวมทั้งปีต้องเกิน 8 แสนคันแน่นอน และคงต้องรอตัวเลขในเดือนธันวาคมออกมา ถึงจะสรุปได้ว่าตลาดรถยนต์ไทยปี 2565 จะจบที่ 8 แสนเท่าไหร่
นอกจากสถานการณ์การขาย และต้องลุ้นกำลังการผลิตแบบรายไตรมาส ยังเกิดหลายปรากฏการณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ฐานยานยนต์ คัดข่าวเด่นที่เกิดขึ้นในรอบปี 2565 มานำเสนอ
สองบริษัทผู้ผลิต EV ยักษ์ใหญ่จากฝั่งสหรัฐอเมริกา คือ Tesla และ BYD จากจีน เหมือนจะนัดกันมาเปิดธุรกิจอย่างเป็นทางการใน ไทยในปี 2565 โดยค่ายแรกจัดตั้ง บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 253 ล้านบาท และจัดงานแถลงข่าวถึงแผนธุรกิจอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565
ทั้งนี้ บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด จะไม่แต่งตั้งดีลเลอร์ หรือปูพรมเปิดโชว์รูม-ศูนย์บริการ เหมือนการทำธุรกิจรถยนต์แบบดั้งเดิม แต่จะเป็น การลงทุนเองทั้งหมด พร้อมเปิดรับจองรถผ่านช่องทางออนไลน์
ส่วน EV ที่ทำตลาดคือ Tesla Model 3 และ Tesla Model Y นำเข้ามาจากโรงงานเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยไม่เสียภาษีนำเข้าตามข้อตกลง FTA จีน-อาเซียน พร้อมทำราคาได้ถูกกว่าเกรย์มาร์เก็ตเกือบเท่าตัว
โดย Tesla Model 3 รุ่นมอเตอร์ตัวเดียว ขับเคลื่อนล้อหลัง 1,759,000 บาท ส่วน Tesla Model Y ราคาเริ่มต้น 1,959,000 บาท เริ่มส่งมอบรถตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากการเปิดให้จองผ่านช่องทางออนไลน์เพียงวันเดียว (ภายใน 24 ชม.) มีคนสนใจสั่งจองไปเกือบ 5,000 คัน
ภายในต้นปีหน้า บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด มีแผนเปิดแฟลกชิปสโตร์ 1 แห่ง และศูนย์ส่งมอบรถ/ศูนย์บริการ อีก 1 แห่ง (พื้นที่เดียวกัน) ขณะที่สถานีซูเปอร์ชาร์จจะทยอยเปิดให้ครบ 10 แห่งภายในปี 2566
ด้าน BYD โดยบริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด ประกาศลงทุน 1.7 หมื่นล้านบาท สร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV และ ปลั๊ก-อินไฮบริด) ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 บนพื้นที่ 600 ไร่ มีกำลังผลิต 150,000 คันต่อปี คาดว่าจะเปิดสายการผลิตในปี 2567 เพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออก
นอกจากนี้ ยังแต่งตั้ง บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายบีวายดีอย่างเป็นทางการ ประเดิมนำเข้า BYD ATTO 3 จากจีน พร้อมรับส่วนลดจากภาครัฐ และขายในราคา 1.099 ล้านบาท (Standard Range) และ 1.199 ล้านบาท (Extended Range)
ล่าสุด BYD ATTO 3 ปิดรับจองชั่วคราว หลังได้ยอดจองตามโควต้านำเข้าล็อตแรก 1 หมื่นคัน ซึ่งจะทยอยส่งมอบให้แก่ลูกค้าตั้งแต่ ปลายปีนี้ ไปจนถึงเดือนมกราคม 2566 ปัจจุบัน เรเว่ ออโตโมทีฟ แต่งตั้งดีลเลอร์ และมีโชว์รูม-ศูนย์บริการ มากกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ โดยปี 2566 เตรียมเปิดตัว EV รุ่นใหม่อีก 2 รุ่น
ในเดือนธันวาคม 2565 โตโยต้า จัดงานฉลองการดำเนินธุรกิจ ครบรอบ 60 ปีในไทย โดยประธานใหญ่จากญี่ปุ่น “อากิโอะ โตโยดะ” เดินทางมาร่วมงานด้วยตนเอง ซึ่งไฮไลต์สำคัญคือการประกาศแผนลงทุน และการนำรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน มาร่วมทำการแข่งขันในรายการเอ็นดูรานซ์ 25 ชั่วโมง ที่สนามช้าง จ.บุรีรัมย์ ด้วยทีมแข่ง Gazoo Racing ที่ “โตโยดะ” เป็นเจ้าของ และเป็นหนึ่งในนักขับที่ร่วมแข่งขันในรายการนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปร่วมการแข่งขันที่ จ.บุรีรัมย์ ด้วย Toyota GR Corolla เครื่องยนต์ไฮโดรเจน ประธานใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น (ทีเอ็มซี) ขึ้นเวทีแสดงวิสัยทัศน์ที่ศูนย์การประชุม แห่งชาติสิริกิติ์ โดยโปรยยาหอมถึงความสำคัญของประเทศไทย กับการดำเนินธุรกิจของโตโยต้าที่แน่นแฟ้นเกินกว่าครึ่งทศวรรษ
นอกจากนี้ ยังประกาศแผน การลงทุนขึ้นไลน์ผลิตปิกอัพ 2 โมเดลใหม่ ที่เตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในอีกหนึ่งปีนับจากนี้ ทั้ง Toyota Hilux Revo BEV ปิกอัพตอนเดียวขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% และ Toyota IMV 0 ปิกอัพอเนกประสงค์ ที่ปรับการออกแบบให้เหมาะสมกับ การใช้งานได้หลากหลาย
Toyota IMV 0 สามารถเปลี่ยนพื้นที่ด้านหลัง (กระบะพื้นเรียบ) ให้ ตีคอกตีตู้เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า หรือจะทำเป็น ฟู้ดทรัค ร้านค้า ไปจน ถึงดัดแปลงเป็นรถบ้าน รถแคมปิ้ง เพื่อการเดินทางท่องเที่ยว พร้อมขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 2.4 ลิตร เทอร์โบ คาดราคาไม่เกิน 6 แสนบาท
นอกจากแผนลงทุนใหม่แล้ว โตโยต้าเน้นยํ้าเรื่องนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการพัฒนาโปรดักต์และขุมพลังที่หลากหลาย ทั้งรถไฮบริด ปลั๊ก-อินไฮบริด อีวี รถ เซลล์เชื้อเพลิง ไปจนถึงรถเครื่องยนต์ไฮโดรเจน ขณะเดียวกันยังประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)
โดย “อากิโอะ โตโยดะ” ได้เข้าพบ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสซีพี ในวันที่ 12 ธันวาคม 2565 ยืนยันถึงความร่วมมือกันอย่างเป็นทาง การ ซึ่งประเด็นสำคัญคือการศึกษาการผลิตไฮโดรเจนโดยใช้ก๊าซชีวภาพ ที่ได้จากของเสียจากฟาร์มในประเทศไทย
จากนั้นจะนำไฮโดรเจนที่ได้ มาใช้ขับเคลื่อนรถบรรทุกพลังงาน ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) ในกิจกรรมต่างๆ ของซีพี
“โตโยต้า ซีพี คำนึงถึงประเทศ ไทยและโลกใบนี้ ได้เห็นร่วมกันที่จะดำเนินการในสิ่งที่เราสามารถเริ่มต้นทำได้ในขณะนี้ โดยอาศัยจุดแข็งและทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละบริษัทฯ ผมเชื่อว่าการริเริ่มในครั้งนี้ จะนำไปสู่การยอมรับและสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม” นายอากิโอะ โตโยดะ กล่าว
วันที่ 15 กันยายน 2565 ถือเป็นอันสิ้นสุดมหากาพย์ คดีโตโยต้า พรีอุส ที่ดำเนินมาถึง 10 ปี หลังจากกรมศุลกากรฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางในปี 2555 ว่า โตโยต้า พรีอุส รุ่นที่ขายตั้งแต่ปี 2553-2555 จำนวนประมาณ 1 หมื่นคัน เสียภาษีผิดประเภท
โดยกรมศุลกากร มองว่าการขึ้นไลน์ประกอบพรีอุสในไทย ด้วยสิทธิประโยชน์เขตการค้าเสรีญี่ปุ่นไทย JTEPA ไม่ตรงกับความเป็นจริง นั่นเพราะรถทั้งคันและชิ้นส่วนต่างๆ แทบจะสมบูรณ์มาจากญี่ปุ่น 100% ดังนั้นควรจะจ่ายภาษีแบบรถนำเข้าทั้งคัน 80% มากกว่าการเป็นรถ CKD
หลังฟ้องร้องกันครบ 3 ศาล คือ ศาลชั้นต้น (โตโยต้าชนะ) อุทธรณ์ (กรมศุลกากรชนะ) จากนั้นในวันที่ 15 กันยายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร มีคำสั่งพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้โตโยต้าแพ้คดีภาษีพรีอุส และต้องชดใช้เงินคืนให้แก่ภาครัฐกว่า 1.16 หมื่นล้านบาท
ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นการขาดรายได้จากภาษีศุลกากร (ภาษีนำเข้า) กว่า 7,600 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 2,035 ล้านบาท ภาษีมหาดไทย 203 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่มกว่า 1,800 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังจากศาลฎีกาตัดสินคดีเป็นที่สิ้นสุด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย น้อมรับคำตัดสิน และเตรียมจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ภาครัฐ พร้อมออกแถลงการณ์ว่า ที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และข้อตกลง JTEPA แต่ถูกกรมศุลกากรตีความให้ต่างออกไป
กล่าวคือ บริษัทฯ ได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาระหว่างสองประเทศ ที่เรียกว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เพื่อลดอัตราอากรขาเข้าในการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุส ซึ่งในปี 2553 หน่วยงานราชการของไทยที่เกี่ยวข้องได้อนุมัติการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ จึงมีความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามข้อ กำหนดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้าดังกล่าวอย่างถูกต้องมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2555 กรมศุลกากรได้ตีความกฎการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์พรีอุสในแนวทางซึ่งแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีภาระภาษีและอากรขาเข้าเพิ่มขึ้น เป็นอย่างมาก
ดังนั้น เมื่อบริษัทฯได้รับสำเนาคำพิพากษาของศาลฎีกา แล้ว บริษัทฯ จะศึกษารายละเอียดของคำพิพากษา และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ต่อไป