ทั้งงานวิจัยก่อนหน้านี้และผลสำรวจในระยะหลังๆใน สหรัฐอเมริกา บ่งชี้ว่ามีหลายเหตุปัจจัยประกอบกันที่ทำให้ “ผู้หญิง” ตัดสินใจซื้อ รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี (electric vehicle : EV) ยากกว่าผู้ชาย ทำให้สัดส่วนการเป็นเจ้าของรถยนต์ประเภทนี้ มีผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายแบบห่างมากเลยทีเดียว
ปัจจัยที่ว่าก็มีตั้งแต่สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (ซึ่งมี 4 ด้านด้วยกัน คือ ระดับการศึกษา อาชีพ ระดับรายได้ และความมั่งคั่ง) ไล่มาจนถึงประสบการณ์ในการพบปะกับดีลเลอร์ และความไม่รู้ หรือรู้น้อย เกี่ยวกับกลไกการทำงานของยานยนต์ไฟฟ้า แต่หากจะสรุปง่ายๆ จากผลสำรวจล่าสุด อาจกล่าวได้ว่ามี 3 ปัจจัยหลักที่เป็นอุปสรรค คือ
สถิติในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 (พ.ศ.2564) ชี้ว่า ผู้หญิงเป็นผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาไม่ถึง 30% นอกนั้นกว่า 70% เป็นผู้ชายซื้อ ทั้ง ๆ ที่ในตลาดรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ยอดขายรถยนต์ครึ่งหนึ่งมาจากผู้หญิง (ในช่วงเวลาเดียวกัน)
อย่างไรก็ตาม การสำรวจในปีที่ผ่านมา (2022) มีแนวโน้มดีขึ้นว่า 47% ของผู้หญิงที่ตอบการสำรวจ บอกว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้า พวกเธออาจพิจารณาซื้อรถ EV สักคัน ขณะที่ผู้ชายให้คำตอบแบบนี้ถึง 53%
ย้อนอดีต รถ EV...เกิดมาเพื่อผู้หญิงเลยนะ
ถึงจะดูว่าเป็นนวัตกรรมยุคใหม่ แต่ความจริงรถยนต์ไฟฟ้ามีใช้มาตั้งแต่ยุค 1800s นางคลารา ฟอร์ด ภรรยาของเฮนรี ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้หญิงระดับเศรษฐีในยุคนั้น เพราะค่านิยมในยุคสมัยที่มองว่าผู้หญิงเป็นเพศอ้อนแอ้น อ่อนแอ ขี้จุกจิก ไม่เหมาะกับรถใช้น้ำมันที่เครื่องยนต์มีเสียงดัง พ่นควันโขมง ไอเสียกลิ่นเหม็น ขณะที่รถ EV เครื่องเดินเงียบกว่า สะอาดกว่า และไม่ต้องใช้คันหมุนมาหมุนๆหน้ารถเพื่อติดเครื่องยนต์ให้เปลืองแรงด้วย
เวอร์จิเนีย ชาร์ฟ นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในยุคเริ่มแรกนั้น ผู้ผลิตรถยนต์มีแนวคิดชัดเจนว่า รถเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันนั้นสำหรับผู้ชาย ส่วนรถไฟฟ้าสำหรับผู้หญิง
แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน แม้ผู้บริโภคฝ่ายหญิงจะให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมโลก แต่เจ้าของรถ EV ส่วนใหญ่กลับเป็นผู้ชาย
การสำรวจที่เพิ่งจัดทำเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาโดย Consumer Reports ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิผู้บริโภคที่ไม่แสวงผลกำไร ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้ตอบแบบสอบถามการสำรวจมากกว่า 8,000 คน เป็นการตอบคำถามที่ว่า ทำไมผู้หญิงถึงต้องคิดเยอะกว่าและตัดสินใจซื้อรถ EV ยากกว่าผู้ชาย
ทำไงได้ มีหลายเรื่องให้ต้องคิดเยอะ
คำตอบแรกคือ ความไม่คุ้นเคย (unfamiliarity) การสำรวจชี้ว่า ผู้ชายคุ้นเคยกับการทำงานของรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า รวมทั้งคุ้นกับการใช้งานแท่นประจุไฟฟ้ามากกว่า ผู้ชายที่ตอบคำถามการสำรวจยังเคยนั่งรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่าผู้ตอบคำถามฝ่ายหญิงอีกด้วย
เพราะฉะนั้น หากต้องการก้าวข้ามอุปสรรคเรื่องนี้ ก็ต้องให้ผู้หญิงได้มีโอกาสสัมผัส-ขับขี่รถยนต์ EV มากขึ้น พร้อมๆไปกับการให้ความรู้ความเข้าใจ เพื่อทำให้เกิดความคุ้นเคยมากขึ้น
ถัดจากนั้นมาก็คือ “ความไว้วางใจไม่ได้" (unreliability) เกี่ยวกับสถานีประจุไฟฟ้า แม้ว่าจะมีความพยายามพัฒนาปรับปรุงและสร้างสถานีประจุไฟฟ้ารถยนต์ EV กระจายไปทั่วสหรัฐ แต่บ่อยครั้งผู้ขับขี่ก็พบว่า อุปกรณ์ของสถานีชำรุด ใช้ไม่ได้ หรือใช้แล้วเกิดปัญหา ไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไรด้วยตัวเอง
ข้อแตกต่างระหว่างปั๊มน้ำมันกับสถานีประจุไฟฟ้าก็คือ ปั๊มน้ำมันมักจะมีเจ้าหน้าที่หรือพนักงานประจำการอยู่ ถ้ามีปัญหาก็สามารถเข้าไปสอบถามหรือพึ่งพาได้ แต่สถานีประจุไฟฟ้า มักตั้งอยู่โดด ๆ ตามลานจอดรถของห้าง หรือซูเปอร์มาร์เก็ต เวลามีปัญหา ก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร แถมเวลาจะชำระเงิน ยังจะต้องชำระผ่านแอปฯโทรศัพท์มือถือ ที่แต่ละสถานี แต่ละผู้ให้บริการ ก็มักใช้แอปฯแตกต่างกันไป ทำให้ผู้ใช้งงๆ หรือขลุกขลัก ได้บ่อยๆ ทำให้เกิด “ความไม่สะดวก” ตามมา
ปัจจัยต่อมาที่สำคัญมากและผู้หญิงมักจะคำนึงถึงหากต้องเดินทางไกลไปกับรถ EV นั่นก็คือ “ความปลอดภัย” หรือ safety นั่นเอง หลายคนต้องวางแผนก่อนเดินทางว่ามีสถานีประจุไฟฟ้าระหว่างทางที่ไหนบ้าง เพื่อที่เธอจะสามารถไปใช้บริการได้ในเวลากลางวัน
เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้วก็คือ สถานที่ติดตั้งแท่นประจุไฟฟ้ารถ EV มักตั้งอยู่ห่างไกลหน่อย อาจจะเป็นลานจอดรถหลังห้าง หรืออยู่ด้านในของลานจอดรถ บ้างก็เป็นจุดลับสายตาผู้คน ระยะเวลาในการประจุไฟฟ้าก็ใช่ว่าจะปุ๊บปั๊บฉับไวเหมือนการเติมน้ำมันรถ ซึ่งถ้าเทียบกันแล้ว การเติมน้ำมันอาจใช้เวลาเพียง 5 นาที แต่การประจุไฟฟ้ารถ EV ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที เป็นต้น
เมื่อต้องใช้เวลาอยู่ในสถานที่เปลี่ยวและไกลสายตาผู้คนแบบนั้น จึงต้องคำนึงเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้นด้วย
ผู้ตอบคำถามการสำรวจคนหนึ่งซึ่งเป็นคุณแม่ที่มีลูกสาว 2 คน วัย 18 และ 22 ให้ความเห็นว่า เธอคงไม่สบายใจถ้าลูกสาวขับรถ EV แล้วต้องไปนั่งรอชาร์จไฟรถตามสถานีประจุไฟฟ้ายามค่ำคืนในลานจอดเปลี่ยวๆ
สำหรับเจ้าของรถ EV ที่มีบ้านส่วนตัวและสามารถติดตั้งอุปกรณ์ประจุไฟฟ้าที่บ้าน พวกเขาก็อาจไม่ต้องกังวลมากนักเรื่องความปลอดภัยตามสถานีประจุไฟฟ้าสาธารณะ แต่สำหรับผู้ที่อยู่คอนโด อพาร์ทเมนท์ หรือที่พักรวมที่อาจไม่มีแท่นชาร์จไฟฟ้ารถ EV ให้บริการ หรือบางสถานที่อาจจะมีอยู่บ้าง แต่จำนวนก็ไม่มากพออยู่ดี การจะมีรถ EV สักคันอาจกลายเป็นภาระเพิ่มในการหาที่ชาร์จไฟฟ้าก็เป็นได้
สุดท้ายแล้ว บางทีเรื่องนี้อาจมาจบที่ “ความสะดวกสบาย” ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง หากต้องซื้อรถ EV สักคัน พวกเขาต้องการความสะดวก เช่นหาสถานีประจุไฟฟ้ารถได้สะดวกไม่ว่าจะเดินทางระยะไกลแค่ไหน สามารถใช้อุปกรณ์ประจุไฟฟ้าบริการตัวเองได้สะดวกและรวดเร็ว ใช้แอปฯชำระเงินได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ยิ่งนับวันราคารถ EV ยิ่งปรับลดลง ถ้าทุกอย่างสะดวกอย่างที่กล่าวมา การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าก็คงกลายมาเป็นกระแสหลักได้เร็วขึ้น และจูงใจลูกค้าผู้หญิงได้มากขึ้นเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง