นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ซึ่งเห็นชอบการให้สิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์
“วันนี้ครม.แค่รับทราบมติก่อน โดยเรื่องที่เสนอวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ส่วนมาตรการ EV ทั้งแพ็คเกจ คือ แบตเตอรี่ และมาตรการอื่น ๆ ที่ใช้เงินงบประมาณนั้น วันนี้ไม่มีการเสนอเข้ามาในครม. และคงต้องรอรัฐบาลใหม่มาพิจารณา”
ครม.เคาะ 2 มาตรการ EV 3.5
สาระสำคัญการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 ที่ประชุมได้พิจารณาการให้สิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และมีมติเห็นชอบให้เสนอครม. รวม 2 มาตรการ ดังนี้
1.กำหนดให้กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ต้องผลิตรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน หรือรถยนต์กระบะ ประเภท BEV รุ่นใดก็ได้ เพื่อชดเชยการนำเข้า
2.กรณีนำเข้ารถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท และมีขนาดความจุแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 kWh ขึ้นไป ซึ่งกำหนดให้ต้องผลิตชดเชยรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่ได้นำเข้า
หากมีกรณีที่ผู้ขอรับสิทธิได้นำเข้ารถยนต์รุ่นที่ได้รับสิทธิและผลิตชดเชยรุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้นำเข้าและได้รับสิทธิ์ แม้จะมีเลขซีรี่ส์ที่ต่างกัน ถือเป็นการผลิตชดเชยรถยนต์รุ่นเดียวกับรถยนต์ที่ได้รับสิทธิ์
ปรับมาตรการให้ยืดหยุ่นมากขึ้น
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า มติที่เสนอเข้ามายังครม.วันนี้ เป็นการปรับมาตรการให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเป็นหนึ่งในมาตรการที่ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณรัฐเข้าไปดำเนินการ จึงสามารถนำเข้ามารายงานในที่ประชุมครม.เพื่อขอมติรับทราบการดำเนินการตามมติของบอร์ด EV ได้
โดยมาตรการนี้เป็นมาตรการที่อยู่ภายใต้อำนาจของกรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ซึ่งที่ผ่านมาได้เสนอในที่ประชุมบอร์ด EV ให้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ EV โดนอนุญาตให้สามารถนำรถยนต์แบบ BEV จากต่างประเทศเข้ามาขายในไทยได้ แต่มีเงื่อนไขให้ผลิตรถยนต์ EV ในประเทศตามระยะเวลาที่กำหนด
เป็นประโยชน์กับค่ายรถยนต์
ขณะเดียวกันมาตรการยังช่วยให้เกิดประโยชน์สำหรับค่ายรถยนต์ที่มีการเปลี่ยนรุ่น และซีรี่ย์ในการผลิตรถอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะกรณีของค่ายรถยุโรป อาจนำเข้ารถยนต์ EV ที่เป็นซีรี่ย์ปัจจุบันมาขาย แต่เมื่อจะผลิตชดเชยในประเทศก็สามารถผลิตรถรุ่นใหม่ หรือรถที่มีการเปลี่ยนซีรี่ย์แล้วได้ ซึ่งเงื่อนไขแบบนี้จะจูงใจให้ค่ายรถยนต์สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการมากขึ้น
นอกจากนี้ในเงื่อนไขที่ระบุในการผลิตรถยนต์ EV ทดแทนการนำเข้า ก็ได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขจากเดิมที่ต้องผลิตรถยนต์ EV เหมือนกับที่นำเข้าให้เป็นการผลิตรถกระบะไฟฟ้าทดแทนได้เช่นกัน เนื่องจากประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการผลิตรถกระบะไฟฟ้าให้กลายเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยน ซึ่งจะมีประโยชน์และมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นด้วย