EA พร้อมลงทุนขยายโรงงานแบตเตอรี่ รับนโยบายรถยนต์ไฟฟ้า EV ไทย

11 พ.ค. 2566 | 06:21 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2566 | 06:25 น.

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ทำหนังสือแจ้งรัฐบาล พร้อมขยายกำลังการผลิตโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน รองรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของประเทศ

กรณีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV และชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค หลังจากการจัดทำแพ็คเกจการส่งเสริมได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้นำเสนอเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น

ล่าสุด นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้ทำหนังสือถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และกรมสรรพสามิต เพื่อขอแสดงเจตนารมณ์ในการขยายกำลังการผลิตโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของ EA

ทั้งนี้ได้ระบุว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ในวันที่ 7 มีนาคม 2566 มีนโยบายผลักดันส่งเสริมธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงชิ้นส่วนแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตยานยนต์ ไฟฟ้านั้น บริษัท ซึ่งเป็นผู้ผลิตและประกอบแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน บริษัทแรก ในประเทศไทย ที่มีกำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

อีกทั้งอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตให้เป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในปีนี้ รวมทั้งยังเป็นบริษัทที่ผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น รถโดยสารไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า เรือไฟฟ้า และหัวรถไฟไฟฟ้า ซึ่งใช้เทคโนโลยีและโรงงานผลิตในประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนของ รัฐบาลในเรื่องนี้

บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดัน ส่งเสริม และเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในได้ในตลาดโลก เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน และต่อไปในตลาดโลก โดยการเร่งรัดการสนับสนุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ขนาด 8 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีนั้นจะเป็นการกระตุ้นให้ประเทศ ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายโดยเร็วขึ้น

ทั้งนี้บริษัทมีความพร้อมที่จะตอบสนองการสนับสนุนในเรื่องนี้ของรัฐบาล โดยบริษัท มี ความพร้อมทั้งเรื่องเงินลงทุน และเทคโนโลยี ที่จะดำเนินการขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายของ คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ โดยบริษัทยินดีที่จะดำเนินการยื่นเอกสารต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อขยายกำลังการผลิตให้มีขนาด 8 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีในทันที หากนโยบายการให้การสนับสนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่แบบลิเธียม ไอออน ได้รับการเร่งรัดและผลักดันให้มีผลบังคับใช้ในเวลาอันใกล้นี้ 

สำหรับนโยบายด้านการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่นั้น ที่ผ่านมาบอร์ด EV ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริม แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1.การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ จาก 8% เหลือ 1% พร้อมทั้งยกเว้นอากรนำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปในช่วง 2 ปีแรก 

โดยผู้ขอรับสิทธิ์ต้องผลิตแบตเตอรี่ชดเชยภายในปีที่ 3 เท่ากับจำนวนแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้าในปีที่ 1 และ 2 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 คือนำเข้า 1 แพ็คผลิตชดเชย 2 แพ็ค หรือต้องผลิตแบตเตอรี่ชดเชยภายในปีที่ 4 เท่ากับจำนวนแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้าในปีที่ 1 และ 2 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 3 หรือนำเข้า 1 แพ็คผลิตชดเชย 3 แพ็ค

2. สนับสนุนเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย บนหลักการ “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” หรือ First Come- First Serve เพื่อจูงใจให้ผู้ขอรับสิทธิเร่งดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศโดยเร็ว

สำหรับเงินสนับสนุนจะขึ้นอยู่กับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่ สำหรับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุน ระหว่าง 400-600 บาท/kWh แต่หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh