ทั้งนี้มีเป้าหมายผลิตประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้า 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 675,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 34,000 คัน นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมการผลิตรถสามล้อ เรือโดยสาร และรถไฟระบบราง
มีเป้าหมายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 440,000 คัน รถจักรยานยนต์ 650,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 33,000 คัน รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge จำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี
อีกทั้งมีมาตรการส่งเสริม ZEV ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โดยกำหนดแนวทางและมาตรการตามนโยบาย 30@30 ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) : ปี 2564 - 2565 ซึ่งภาครัฐออกมาตรการอุดหนุนส่วนลดซื้อรถ EV 18,000 -150,000บาท/คัน และการลดภาษีนำเข้ารถและส่วนประกอบต่าง ๆ ไปแล้ว
ระยะที่ 2 : ปี 2566-2568 พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายการผลิตรถ EV ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ และระยะที่ 3 : ปี 2569 -2573 การขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30@30
ล่าสุดเป็นที่แน่นอนแล้วว่า การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ต้องสะดุดลง หลังนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ออกมายืนยันแล้วว่า มาตรการสนับสนุนด้านการเงินจะต้องให้รัฐบาลใหม่พิจารณางบประมาณมาสนับสนุน
จึงเท่ากับว่า มาตรการส่งเสริมการใช้อีวี ที่ต้องใช้เงินสนับสนุนผู้ซื้อรถยนต์ ตามกรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบไว้ราว 4.3 หมื่นล้านบาท เสนอขอใช้งบประมาณเป็นรายปี ซึ่งวงเงินก้อนแรกได้อนุมัติไปราว 2,923 ล้านบาท จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2566 และจำเป็นต้องใช้อีกราว 3 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2567 โดยกรมสรรพสามิตเป็นผู้เสนอ
รวมถึงมาตรการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์อีวีในประเทศ บอร์ดอีวี ได้เห็นชอบกรอบวงเงิน 24,000 ล้านบาท เพื่อจูงใจให้ผู้ขอรับสิทธิเร่งดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศโดยเร็ว ต้องชะลออกไป และยังไม่ทราบว่ารัฐบาลใหม่จะมาสานต่อนโยบายส่งเสริมตามที่บอร์ดอีวี เห็นชอบไปแล้วหรือไม่
ทั้งนี้ การตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในระดับ Cell Production ตามกำลังการผลิตสูงสุดและพลังงานจำเพาะโดยนํ้าหนักของแบตเตอรี่ มีเอกชนรายหลายให้ความสนใจที่จะลงทุน หลังจากบอร์ดอีวี ไฟเขียวที่จะสนับสนุนเงินให้กับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดตั้งแต่ 1- 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท/kWh หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh บนหลักการ “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่จะตั้งโรงงาน ได้สิทธินำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปมาก่อน และได้รับเงินสนับสนุน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า จะมีการลงทุนสร้างโรงงานในภายหลัง
ส่งผลให้ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เสือปืนไว ประกาศแผนที่จะลงทุนขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไออนเป็นปีละ 4 กิกะวัตต์ชั่วโมง ภายในปี 2566 จากปัจจุบันปีละ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง ใช้เงินลงทุนราว 6 พันล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา EA ได้ทำหนังสือถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการขยายกำลังการผลิตเป็น 8 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยจะยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในทันที หากนโยบายให้การสนับสนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ได้รับการเร่งรัดและผลักดันให้มีผลบังคับใช้ในเวลาที่รวดเร็ว
ขณะที่ บริษัท CATL หรือ Contemporary Amperex Technology Co., Ltd. ผู้ผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน ได้เข้ามาหารือกับบีโอไอ ถึงมาตรการดังกล่าวส่งเสริมไปแล้ว และยังมีบริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตแบตเตอรี่ของจีน และบริษัท SVOLT (เอสวอลต์) ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในเครือเกรท วอลล์ มอเตอร์ แสดงความสนใจที่จะลงทุนผลิตแบตเตอรี่ในไทย และเตรียมที่จะยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอ เช่นกัน
ส่วนมาตรการสนับสนุนผู้ซื้อรถยนต์อีวีในราคาที่ถูกกว่าเครื่องยนต์สันดาปนั้น จะปรับเงื่อนไขใหม่ หากซื้อรถอีวีในช่วงปี 2567-2570 รัฐจะอุดหนุนเงินในจำนวนที่ลดลง โดยจะให้งินสนับสนุนรถยนต์นั่งไฟฟ้าที่มีขนาดแบตเตอรี่ตำหว่า 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อคัน ส่วนรถยนต์นั่งไฟฟ้าและรถกระบะไฟฟ้าที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป 1 แสนบาทต่อคัน
จากเดิมสนับสนุน รถยนต์นั่งที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงแต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง อุดหนุน 7 หมื่นบาทต่อคัน และรถยนต์นั่งรวมถึงรถกระบะขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป อุดหนุน 1.5 แสนบาทต่อคัน