นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้เตรียมขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าหรือ รถอีวี ในปี 2566/67 ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนเม็ดเงินให้แก่ผู้ซื้อรถอีวีตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยรถยนต์อีวีจะได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน ส่วนรถจักรยานยนต์อีวี ได้รับ 1.8 หมื่นบาทต่อคัน
สำหรับความคืบหน้าการจ่ายเงินชดเชยตามมาตรการอีวีนั้น กรมได้จ่ายเงินชดเชยเป็นไตรมาสที่ 3 คิดเป็นวงเงินสะสม 807 ล้านบาท จากกรอบงบประมาณที่รัฐบาลอนุมัติให้ 2,900 ล้านบาท โดยมีรถอีวีจำนวนกว่า 6,580 คัน แบ่งเป็น รถยนต์กว่า 5,200 คัน เงินชดเชย 782 ล้านบาท และรถจักรยานยนต์ 1,370 คัน เงินชดเชย 24.6 ล้านบาท
กรมอยู่ระหว่างการจ่ายเงินชดเชยอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เบื้องต้น มีข้อมูลการจ่ายชดเชยจำนวนประมาณ 3,000 คัน เป็นเงิน 395 ล้านบาท แบ่งเป็น รถยนต์ 2,500 คัน เงินชดเชย 385 ล้านบาท และ รถจักรยานยนต์ 580 คัน เงินชดเชย 10 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวยังไม่สรุป เพราะยังไม่สิ้นสุดไตรมาสสอง
“งบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้สำหรับการจ่ายชดเชยในปี 2565/66 จำนวน 2,900 ล้านบาท จะสิ้นสุดในช่วงเดือนก.ย.นี้ ซึ่งเราประเมินว่า งบดังกล่าวจะเพียงพอ แต่หากว่า มีการเร่งโอนรถเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปี งบก็น่าจะไม่พอ ซึ่งขณะนี้ เราเตรียมของบเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในปี 2566/67”
ทั้งนี้ ประเมินว่ายอดการเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมอีวีจะทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงปี 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ จะเริ่มผลิตรถยนต์อีวีในประเทศตามเงื่อนไขของโครงการ เมื่อมีการผลิตรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น ราคารถยนต์อีวีก็จะปรับลดลง ซึ่งจะสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมาสนใจรถอีวีเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน กรมได้รับรายงานว่า มีแนวโน้มความสนใจรถอีวีที่ดี คาดว่าหากรวมกันแล้ว จะทำให้ยอดจองรถอีวีที่ขอรับมาตรการส่งเสริมภาครัฐสะสมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5 หมื่นคัน ใช้งบอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
ส่วนมาตรการอีวีในช่วงปี 2567-2678 นั้น คาดว่า จะมีการปรับรายละเอียดใหม่ ซึ่งจะต้องรอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลใหม่อีกครั้ง เช่นเดียวกับ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่สำหรับสนับสนุนอุตสาหกรรมรถอีวีด้วย