แม้ EV จีนจะได้สิทธิ์นำเข้ามาขายในไทย โดยไม่เสียภาษีนำเข้า ทว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จีนต่างวางแผนงานระยะยาว โดยให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาเพื่อทำตลาดในประเทศและส่งออก โดยรายใหม่ที่มีแผนเข้ามาลงทุนในไทยคือ ฉางอัน จีเอซี เชอรี่ วู่หลิง และจีลี่
สำหรับทุนจีนที่ลงหลักปักฐานในไทยเป็นรายแรกๆ คือ SAIC พี่ใหญ่อุตสาหกรรมยานยนต์จีน ที่ร่วมทุนกับเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์แบรนด์ “เอ็มจี” ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด2 (WHA ESIE 2) จ.ชลบุรีด้วยเงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ล่าสุดเพิ่งเจียดเงินอีก 500 ล้านบาทสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (ในพื้นที่เดียวกัน) ซึ่งการก่อสร้างเฟสแรกจะเสร็จปลายปีนี้
ด้านเกรทวอลล์มอเตอร์เป็นบริษัทเอกชนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยโดยตรงด้วยการซื้อโรงงานของเจนเนอรัลมอเตอร์ส (จีเอ็ม) จ.ระยอง ช่วงปลายปี 2563 และมีแผนประกอบ EV ในปี2567 (เช่นเดียวกับ เอ็มจี)ล่าสุดสั่งให้บริษัทลูก SVOLTผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเข้ามา ตั้งบริษัทสโฟวล์ทเอเนอจี้เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ด้วยเงินลงทุน 1,250 ล้านบาทสร้างโรงงานแบตเตอรี่ที่อ.ศรีราชาจ.ชลบุรี
สอดคล้องกับ ซัพพลายเออร์แบตเตอรี่รายใหญ่ของโลก CATL ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ประกาศความร่วมมือกับ อรุณ พลัส ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปตท. ลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาทเพื่อตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบ Cell-To-Pack (CTP) ใน จ.ชลบุรี พร้อมเดินสายการผลิตภายในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี
ด้านบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของจีน บีวายดี ใช้เงินลงทุน17,900ล้านบาท ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV,ปลั๊ก-อินไฮบริด) ที่นิคมฯWHA บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ จ.ระยอง สามารถเดินสายการผลิตได้ในปี 2567เบื้องต้นวางกำลังผลิตไว้ 150,000 คันต่อปี
ส่วน “โฮซอน” ที่เริ่มทำตลาด EV รุ่น NETA V ได้ว่าจ้าง บริษัท บางชันเยนเนอเรลเอเซมบลีจำกัดให้เป็นผู้ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน กรุงเทพฯ
นายหวัง เฉิงเจี่ย รองประธานบริษัท โฮซอนนิวเอนเนอร์ยี่เซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาสําหรับประเทศต่างๆ ในอาเซียน ภายใต้แผนงานนี้จะเริ่มการผลิตในปี 2567
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากจีนเตรียมเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในไทยทั้งฉางอัน และ จีเอซี (GAC Aion -กวางโจว ออโตโมบิล) รวมถึงเชอรี่ ออโตโมบิล และวู่หลิง
สำหรับ ฉางอัน จะลงทุน 9,800 ล้านบาท ส่วน GAC Aion มีแผนลงทุนกว่า 6,400 ล้านบาท ด้าน เชอรี่ เริ่มพูดคุยในรายละเอียดแล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยมูลค่าการลงทุน
ทั้งนี้ เชอรี่ เตรียมนำเข้าเอสยูวี OMODA 5 EV รุ่นแรกจากจีนมาทำตลาดในไทยต้นปี 2567 ก่อนวางแผนขึ้นไลน์ประกอบต่อไป
ขณะที่ “จีลี่” ซึ่งเป็นเจ้าของวอลโว่ มีแผนเข้ามาทำธุรกิจในไทยเช่นกัน และพร้อมขึ้นไลน์ประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนแบรนด์ในเครือที่มีโอกาสนำเข้ามาทำตลาดก่อนคือ “สมาร์ท”