รถจีน กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป (GAC) ยกทัพบุกไทยแบบมั่นอกมั่นใจ โดยจดทะเบียนตั้งบริษัทลูก “ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ ประเทศไทย” ประเดิมนำเข้า EV AION Y Plus มาทำตลาด ก่อนกลางปี 2567 จะขึ้นไลน์การผลิตในไทย ภายใต้เงินลงทุนช่วงแรกกว่า 6,000 ล้านบาท
สำหรับ AION Y Plus แบ่งการขายเป็น 2 รุ่นย่อยคือ 490 Elite ราคา 1,069,900 บาท แบตเตอรี่ 63.2 kWh ระยะทางวิ่ง 490 กม./ชาร์จ และ 550 Ultra 1,299,900 บาท แบตเตอรี่ 68.3 kWh ระยะทางวิ่ง 550 กม./ชาร์จ ซึ่ง
ผู้บริหารยืนยันว่า นี่เป็นราคาที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว
แหล่งข่าวจากพันธมิตรรายหนึ่งของ GAC AION เปิดเผยว่า ช่วงแรกมีการพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่เตรียมเปิดตัวในไทย และแผนการตั้งโรงงานผลิต ส่วน AION Y Plus อยากให้มีราคาเริ่มต้นตํ่ากว่า 1 ล้านบาท แต่สุดท้ายเมื่อเปิดตัวในวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา กลายเป็นราคาอย่างที่เห็น
“ผู้บริหารจีนอยากลองตั้งราคาสูงดูก่อน แต่ถ้ายอดขายไม่เดิน น่าจะมีแผนส่งเสริมการขายให้กับบรรดาดีลเลอร์ตามมาทีหลัง” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด แต่งตั้ง 4 ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ในไทย (ใช้คำว่า ดิสทริบิวเตอร์) คือ Gold Integrate Harmony Auto และ สองทุนไทย AIONIC (ในเครือชาริช โฮลดิ้ง) และ V Group AI ของวิริยะ กรุ๊ป ให้ช่วยดูแลการขายและบริการหลังการขาย ตั้งเป้าเปิดโชว์รูมศูนย์บริการรวมกันถึง 50 แห่งในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงตั้งไข่ธุรกิจ GAC นอกจาก 4 ผู้แทนจำหน่าย ที่ต้องแข่งขันกัน เองแล้ว น้องใหม่จากจีนยังส่งรถให้ EVme ของ “อรุณพลัส” บริษัทย่อยของ ปตท. แพลตฟอร์มการให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร ตั้งแต่เช่าใช้ระยะสั้น ระยะยาว ไปจน ถึงการเป็นนายหน้าช่วยขายรถ
ทั้งนี้ EVme ประกาศตัวว่าเป็นบริษัทแรกที่มี AION Y Plus ให้ทดลองขับโดยผู้สนใจจะเช่า หรืออยากจะซื้อรถรุ่นนี้กับ EVme ก็ทำได้เช่นกัน
สำหรับ GAC AION ตั้งเป้ายอดขาย AION Y Plus ภายในปีนี้ไว้ 3,000 คัน และปลายปีเตรียมเข้างาน Motor Expo 2023 พร้อมเปิดตัว EV อีกหนึ่งรุ่นคือ AION S
นายกู่ ฮุ่ยหนาน กรรมการผู้จัดการ GAC AION New Energy Automotive เปิดเผยว่า การรุกตลาดในประเทศครั้งนี้ AION พร้อมจะนำเสนอผลิตภัณฑ์พร้อมทั้งเป็น และเดินหน้าสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่มาตรฐานระดับโลก
ส่วนการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทยจะเริ่มตั้งแต่กลางปี 2567 และช่วงนี้บริษัทกำลังลงพื้นที่ดูหน้างาน พร้อมพูดคุยแผนการลงทุนกับพันธมิตรในไทย
“เราคาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 จะบรรลุผลสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพการผลิต รวมถึงการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยเร่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายกู่ ฮุ่ยหนาน สรุป
อนึ่ง เมื่อเดือนมีนาคม 2566 นายเซียว หยง รองประธานบริษัท GAC AION เดินทางมายังประเทศไทยและร่วมพูดคุยกับกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นได้เตรียมที่จะมาลงทุนในไทย 100% แต่หลังจากที่ได้ไปหารือกับหลายหน่วยงาน อาทิ EEC และ BOI ทำให้เกิดแนวคิดการหาผู้ร่วมลงทุน โดยการลงทุนจะเป็น GAC AION ถือครองสัดส่วนในจำนวนที่มากกว่า และตั้งเป้าผลิตรถยนต์ EV ในไทยให้ได้ 100,000 คันต่อปี
ในส่วนยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า EV จากกรมการขนส่งทางบกช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. - ส.ค. 66) ทำได้กว่า 43,000 คัน นำโดย BYD ATTO 3 จำนวน 14,314 คัน NETA V 8,440 คัน TESLA Model Y 4,503 คัน ORA Good Cat 3,712 คัน MG EP 2,597 คัน MG 4 จำนวน 2,480 คัน TESLA Model 3 จำนวน 1,718 และ MG ZS EV 1,293 คัน