ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน BYD ขึ้นครอง ส่วนแบ่งการตลาดรถไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการสร้างหุ้นส่วนและการตลาดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 แซงหน้า เทสลา ด้วยวิธีหาตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่น มุ่งสร้างแบรนด์ก่อนเน้นทำกำไร
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 ก.ย.) ว่า BYD สามารถครองตลาดการขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้มากกว่า 1 ใน 4 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือตลาดอาเซียน แล้ว โดยยักษ์ใหญ่จากจีนรายนี้ สามารถแซงหน้าแบรนด์คู่แข่งหลายราย รวมทั้งเทสลา ผู้ผลิตรถ EV ระดับแนวหน้าของโลก สัญชาติอเมริกัน
นักวิเคราะห์และตัวแทนจากบริษัทหุ้นส่วนของ BYD เปิดเผยว่า ความสำเร็จของ BYD ในระยะแรกๆนี้ มาจากกลยุทธ์การตั้งราคาที่น่าดึงดูดใจ การกระจายการจัดจำหน่ายรถให้กับบริษัทท้องถิ่นขนาดใหญ่ ทำให้ BYD สามารถเข้าถึงข้อมูลท้องถิ่นทั้งในด้านของรสนิยมผู้บริโภคและความซับซ้อนของกฎหมายในแต่ละพื้นที่
แนวทางการสร้างหุ้นส่วนหรือพันธมิตรของ BYD นั้น เป็นสิ่งที่บริษัทผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นเคยทำกับบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแล้วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา วิธีการนี้ทำให้ BYD เข้าถึงส่วนแบ่งการตลาดได้เร็วกว่าเทสลา ที่เลือกใช้แนวทางการบุกตลาดแบบทำเองคนเดียว
บริษัทคู่ค้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายของ BYD ในภูมิภาคอาเซียน มีทั้งไซม์ดาร์บี้ (Sime Darby) ในมาเลเซียและสิงคโปร์ บัครีแอนด์บราเธอร์ส (Bakrie & Brothers) ในอินโดนีเซีย อายาลา คอร์ป (Ayala Corp) ในฟิลิปปินส์ และเรเว่ ออโตโมทีฟ Rever Automotive ในประเทศไทย
นายโซเมน มันดัล นักวิเคราะห์อาวุโสจากองค์กรวิจัยด้านการตลาด เคาน์เตอร์ พอยท์ (Counterpoint Research) ระบุว่า BYD กำลังให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์มากกว่าการทำกำไรสูงสุด โดยระบุว่า “การให้คู่ค้าท้องถิ่นมีส่วนต่างกำไรที่มากขึ้น BYD ก็สามารถสร้างความเชื่อใจและความภักดีในแบรนด์ และเตรียมการสำหรับการขยายตัวเพิ่ม”
ข้อมูลจากเคาน์เตอร์พอยท์ ระบุว่า ในไตรมาสที่สองของปีนี้ (2023) แบรนด์ BYD มียอดขายรถยนต์อยู่ที่ 26% จากรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังถือว่าเป็นตลาดขนาดเล็กแต่ก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยรถรุ่น Atto 3 ที่มีราคาเริ่มต้นในประเทศไทยที่ 30,000 ดอลลาร์ (ราว 1 ล้านบาท) ก็กลายเป็นรถ EV ที่ขายดีที่สุดในภูมิภาค ในขณะที่รถรุ่นพื้นฐานที่สุดของเทสลา (Tesla) รุ่น Model 3 มีราคาในไทยอยู่ที่ 57,500 ดอลลาร์ (ราว 2 ล้านบาท)
ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 รถ EV มีสัดส่วนการขายอยู่ที่ 6.4% ของตลาดยานยนต์โดยสารทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 3.8% ในไตรมาสที่แล้ว โดยตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศักยภาพที่จะมีความสำคัญต่อบริษัทผู้ผลิตรถ EV มากขึ้น หลังคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะสอบสวนเรื่องแนวทางการอุดหนุนราคารถ EV ของรัฐบาลจีน
ข้อมูลจากเคาน์เตอร์พอยท์ชี้ว่า ช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ ไทยมียอดซื้อรถ EV จาก BYD ที่ 24% จากยอดซื้อนอกประเทศจีนทั้งหมด และถือว่าเป็นตลาดต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุดของ BYD ในขณะที่ยอดขายเทสลาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของยอดขายทั้งหมดทั่วโลก
ทั้งนี้ รอยเตอร์รายงานว่า BYD ลงทุนเกือบ 500 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานใหม่ในไทยซึ่งจะมีกำลังการผลิตรถ EV ราว 150,000 คันต่อปีตั้งแต่ปีหน้า (2024) เป็นต้นไป โดยจะส่งออกไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรปเป็นหลัก