EV จีนไล่ทุบรถญี่ปุ่น ปี 66 ฟันยอดขายไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นคัน เร่งตั้งโรงงานเดินสายการผลิตในไทยไตรมาสแรกปี 2567 รับเงินสนับสนุน EV 3.0 ต่อเนื่อง ค่ายรถญี่ปุ่นตัดพ้อเอื้อประโยชน์จีนมากเกินไป หวั่นรัฐสูญรายได้แบบไป-กลับ แสนล้านบาท ทั้งจ่ายงบอุดหนุน และขาดรายได้จากภาษีของรถญี่ปุ่นที่ยอดขายหายไป หวังเพิ่งนายกฯเศรษฐา คลอดแพ็กเกจช่วยปีหน้า
ตามที่มาตรการ EV 3.0 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2567 (จดทะเบียนรถใหม่วันสุดท้าย) ที่ภาครัฐให้เงินสนับสนุน EV คันละ 7 หมื่นบาท และ 1.5 แสนบาท ตามความจุของแบตเตอรี่(kWh) ไม่รวมสิทธิ์ประโยชน์ด้านภาษี ซึ่งบรรดาค่ายรถยนต์จากจีนต่างทำตามเงื่อนไข โดยนำเข้า EV จากประเทศบ้านเกิดมาขายก่อน จากนั้นตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จะเริ่มผลิตคืนในอัตราส่วนเท่ากับที่นำเข้ามา 1:1 เป็นอย่างน้อย
ขณะที่ยอดขาย EV ช่วงปีที่ผ่านมา คึกคักต่อเนื่อง นำโดย BYD NETA MG GWM รวมถึง Wulling (แบรนด์จีนแต่นำเข้ารถมาจากอินโดนีเซีย) คาดว่ายอดขาย EV เฉพาะแบรนด์เหล่านี้ในปี 2566 จะทำได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นคัน
แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ยอดการจ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการส่งเสริม EV 3.0 ซึ่งเริ่มต้นในปี 2565 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่กว่า 3,900 ล้านบาท และคาดตลอดทั้งปีจะมียอดอุดหนุนกว่า 4,000 ล้านบาทโดยจำนวนรถยนต์ที่ได้รับการชดเชยในขณะนี้ อยู่ที่ 6.7 หมื่นคัน ยังเหลือจำนวนรถยนต์ที่เตรียมเข้าร่วมมาตรการอีกประมาณ 7,000 คัน ดังนั้นยอดรวมปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 7.4 หมื่นคัน
ส่วนปี 2567 นั้น กรมสรรพสามิตได้ขอจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว 1.7 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้ รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้อนุมัติเงินอุดหนุนรวม 4 ปี (พ.ศ. 2565-2568) ไว้ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงเหลือวงเงินที่จะใช้ในปี 2568 อีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
ส่วนปี 2567 นั้น กรมสรรพสามิตได้ขอจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว 1.7 หมื่นล้านบาท โดยโครงการนี้ รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้อนุมัติเงินอุดหนุนรวม 4 ปี (พ.ศ. 2565-2568) ไว้ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงเหลือวงเงินที่จะใช้ในปี 2568 อีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายหนึ่ง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากมาตรการ EV 3.0 ของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยราคา EV ที่ได้รับการสนับสนุนในแต่ละรุ่นที่ลดลงมาจูงใจ จนสามารถแข่งขันได้ พร้อมกับกระแสของโลก พฤติกรรมผู้บริโภคปรับเปลี่ยน EV จึงได้การตอบรับดีมากๆ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐควรพิจารณาคือ การให้สิทธิประโยชน์อย่างเท่าเทียม เพราะแต่เดิมก็เปิดประตูให้จีนเข้ามาทำตลาด EV โดยไม่เสียภาษีนำเข้าตามกรอบ FTA จีน-อาเซียนอยู่แล้ว ยิ่งได้ออนท็อปจาก EV 3.0 หรือจะต่ออายุเป็นโครงการ 3.5 อีก ยิ่งทำให้ EV จีนมีแต้มต่อที่เหนือกว่าค่ายรถญี่ปุ่น (ที่ยังไม่พร้อมผลิต EV)
ขณะเดียวกันหากพิจารณาโครงการนี้เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องสูญเสียรายได้แบบไป-กลับ ทั้ง การจ่ายเงินสนับสนุน EV คันละ 1.5 แสนบาท และยังต้องขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรถยนต์แบบดั้งเดิม (ICE,Hybrid) ที่หายไปอีกคันละ 1 แสนบาทโดยเฉลี่ย
อีกทั้ง EV ไม่ได้เข้ามาทำให้ตลาดรถยนต์ขยายตัว ซึ่งยอดขายที่เกิดขึ้นก็ต้องไปกินส่วนแบ่งการตลาดของค่ายอื่นมา(ญี่ปุ่น) ดังนั้น หากดำเนินโครงการครบ 4 ปี ตัวเลข EV คงเพิ่มเป็นหลายแสนคัน ขณะที่ยอดขายรถยนต์นั่งของญี่ปุ่นก็อาจจะหายไปหลายแสนคันเช่นกัน ประเมินว่าสถานการณ์นี้มีโอกาสที่รัฐบาล จะสูญเงินไป-กลับ ถึง 1 แสนล้านบาทเป็นอย่างต่ำ
“อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 11% ของ GDP ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ประกอบด้วยซัพพลายเชนมากมายที่ลงหลักปักฐานในไทยเกิน 50 ปี แรงงานรวมทั้งระบบเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งตอนนี้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบ จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณามาตรการสนับสนุนบ้าง” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวระดับเจ้าของโชว์รูมรถยนต์หลายแบรนด์ และเป็นดีลเลอร์รถญี่ปุ่นรายใหญ่ เปิดเผยว่า การสนับสนุนค่ายรถจีนที่ให้เงิน 1.5 แสนบาทต่อคัน ควรมีข้อจำกัด และไม่น่ามีมาตรการ EV 3.5 ตามออกมาอีก เพราะจากนโยบายนี้เป็นเหมือนการบิดเบือนตลาด หรือสร้างดีมานด์เทียม อันจะส่งผลกระทบกับหนี้ภาคครัวเรือน และระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
“บรรดาค่ายจีน พร้อมเข้ามาลงทุนในไทยอยู่แล้ว เพราะในเมื่อเขาเห็นคู่แข่งมา เขาก็ต้องตามมา แถมได้ภาษีนำเข้า 0% ดังนั้นการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลก็น่าจะเพียงพอ หรือถ้าหมดมาตรการ EV 3.0 สิ้นปีนี้ ก็ไม่ควรมี EV 3.5 ต่อ เรียกว่าใครพร้อมก็ให้เขาไปก่อน แต่ใครมาที่หลังต้องยอมรับสภาพ หรือไม่ต้องไปออกนโยบายเอื้อมากเกินไป” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานว่าดีลเลอร์ที่ขายรถญี่ปุ่นอยู่เดิม เช่น วี กรุ๊ป,กลุ่มมหานคร,ช.เอราวัณ และรายอื่นๆ ต่างทยอยย้ายไปเป็นคู่ค้ากับค่ายรถจีน พร้อมปลดป้ายปรับเปลี่ยนโชว์รูมบางแห่งจาก Mazda Suzuki Nissan ไปเป็น GAC AION และฉางอาน ภายใต้แบรนด์ Deepal แล้ว
สำหรับแบรนด์จีนที่นำเข้า EV มาขายก่อน แต่ภายในปี 2567 เกือบทุกค่ายต่างเดินแผนผลิตรถยนต์ในไทย ตามเงื่อนไขที่ไปเซ็น MOU กับกรมสรรพสามิตไว้ นั่นหมายความว่า เมื่อเป็นรถรุ่นประกอบในประเทศแล้ว EV รุ่นนั้นๆ จะได้รับสิทธิ์ประโยชน์ตามเดิม ทั้งเงินสนับสนุนและมาตรการด้านภาษี โดยค่ายที่พร้อมผลิต EV ในไตรมาสแรก คือ MGGWMNETAและ Wulling จากนั้นในเดือนมิถุนายนเป็นคิวของ BYD และกรกฎาคม GAC AION ส่วน CHANGAN จะเริ่มไตรมาสแรกปี 2568
ขณะเดียวกัน บรรดาค่ายจีนที่เข้าร่วมโครงการ EV 3.0 เร่งระบายสต๊อก EV รุ่นนำเข้าให้หมดภายในเดือนธันวาคม นี้ ด้วยการลดราคาเป็นหลักแสนบาท ก่อนจะเริ่มประกอบในประเทศ เว้นแต่แบรนด์ไหนที่มีแผนผลิตช้าไปกว่านั้น อาจจะต้องนำรถเข้ามาจากจีนภายใต้โครงการ EV 3.5 ที่ได้รับเงินสนับสนุนน้อยกว่า
ทั้งนี้ ในการเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-อาเซียน ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2566 ที่ประเทศญี่ปุ่น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ บีโอไอ มีหมายนัดหารือกับภาคเอกชนของญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่สุดในไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
นายนฤตม์ เทอดสถียรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบและหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้บริหารของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น 7 ราย ที่มีการลงทุนในไทยมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน
โดยประเด็นสำคัญในการหารือคือ การสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น และพร้อมที่จะสนับสนุนให้ใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของภูมิภาค และร่วมเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีที่มุ่งสู่ความสะอาด ประหยัดพลังงาน และการขับเคลื่อนอัจฉริยะ
“ค่ายรถยนต์ที่จะพบในครั้งนี้เช่นโตโยต้า โดยค่ายรถญี่ปุ่นถือมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยการลงทุนทั้งหมดในไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าลงทุนรวมกว่า 260,000 ล้านบาท จ้างงานโดยตรงกว่า 45,000 คน ผลิตรถยนต์รวมกันกว่า 4.3 ล้านคัน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา”
มีรายงานแจ้งว่า สำหรับมาตรการที่รัฐบาลไทยเตรียมสนับสนุนการลงทุนของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นในไทยเพิ่มเติมนั้น จะครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและการลงทุนใหม่ และรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่รวมถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งแบบสันดาปภายใน ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริ โดยจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และกรณีใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30% ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลวงเงิน 100% ของเงินลงทุน ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567