"BOI" ดึงค่าย EV ดันผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่ซัพพลายเชน ปูทางฮับผลิตอีวีโลก

11 มี.ค. 2567 | 05:09 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2567 | 05:23 น.

"BOI" ดึงค่าย EV ดันผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่ซัพพลายเชน ปูทางสู่ฮับผลิตอีวีโลก เดินหน้าจัดกิจกรรม SUBCON Thailand และ Sourcing Day สร้างโอกาสซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับประเทศ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า ในปี 67 บีโอไอมีแผนจัดกิจกรรมSourcing Day ร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) เช่น MG, Changan, GAC-Aion และ Great Wall Motor เป็นต้น เพื่อจัดหาชิ้นส่วนและบริการสนับสนุนการผลิตจากในประเทศ

รวมถึงดำเนินการร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Delta, Inventec, SVI และ Chicony เป็นต้น โดยนอกจากกิจกรรมมุ่งเป้ารายบริษัท บีโอไอได้ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัทอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จัดงานใหญ่เพื่อแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industries) ในประเทศไทยภายใต้ชื่อ SUBCON Thailand 

ทั้งนี้ งานดังกล่าวจะเป็นเวทีในการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและการจับคู่ธุรกิจระดับนานาชาติ โดยจะมุ่งเน้นให้เกิดการเชื่อมโยงซัพพลายเชนในสองอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศและสร้างงานให้กับคนไทยจำนวนมาก
 

"งานดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายชิ้นส่วนอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงจะมีการจัดสัมมนาพิเศษเพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์ EV จากประเทศจีนได้นำเสนอแผนการพัฒนาซัพพลายเชน และนโยบายการจัดซื้อชิ้นส่วนของบริษัทในประเทศไทย"

"BOI" ดึงค่าย EV ดันผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยสู่ซัพพลายเชน ปูทางสู่ฮับผลิตอีวีโลก

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยสามารถดึงดูดผู้ผลิต EV จำนวนมากให้เข้ามาสร้างฐานการผลิต EV โดยบีโอไอให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างค่ายรถ EV ต่างชาติกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ ผ่านทั้งการกำหนดเงื่อนไขบังคับ มาตรการจูงใจ และกิจกรรมเชื่อมโยงต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาซัพพลายเชน และสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยที่มีศักยภาพได้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม EV และเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต EV ของโลก

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามตามที่รัฐบาลได้ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยไปสู่ EV โดยมีเป้าหมายให้เกิดการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 หรือที่เรียกว่านโยบาย 30@30 

โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าไปมีส่วนในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม EV ผ่านการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV3 และ EV3.5 มีการใช้แบตเตอรี่หรือชิ้นส่วนสำคัญที่ผลิตในประเทศ เช่น มอเตอร์ขับเคลื่อน ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS) ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU) อินเวอร์เตอร์ เกียร์ทดรอบ หรือคอมเพรสเซอร์ระบบปรับอากาศ เป็นต้น 

ในเวลาที่กรมสรรพสามิตกำหนด รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ตั้งในเขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี (Free Zone) ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด เช่น การตรวจสอบคุณภาพ และการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ โดยต้องใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในอาเซียน (Regional Value Content) ไม่น้อยกว่า 40% ของชิ้นส่วนทั้งหมด

ด้านบีโอไอได้กำหนดเงื่อนไขให้บริษัทผู้ผลิต EV ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ต้องมีการผลิตหรือจัดหาแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญจากผู้ผลิตในประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีหุ้นไทยข้างมาก (Local Supplier) โดยการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางเทคนิค ซึ่งจะช่วยยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ EV เพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน
ป้อนให้กับอุตสาหกรรม EV ต่อไป 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ และการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งสิ้น 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท

นอกจากนี้ บีโอไอยังให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ โดยได้ทำงานร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย สมาคมยานยนต์ และบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์และอื่น ๆ จัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น กิจกรรมจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ (Sourcing Day) กิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ กิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วน เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศเข้าไปมีบทบาทในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมเป้าหมาย