ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 บริษัท BYD ของจีนสามารถแซงหน้า Tesla ของ Elon Musk ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายอดขายสูงสุดของโลกเป็นครั้งแรก ส่งผลให้ตลาดในประเทศจีนได้กลายเป็นตลาดขายรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก และเริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น คิดเป็นประมาณ 75% ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้
BYD เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ายอดนิยมในสิงคโปร์ และกลายเป็นแบรนด์จีนแบรนด์แรกที่ติดอันดับ 10 แบรนด์รถยนต์ขายดีสูงสุดในประเทศนั้นเมื่อปีที่แล้ว โดยรถยนต์ของจีนมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 80% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในปี 2023 โดย BYD เป็นผู้นำตลาดที่มีส่วนแบ่งอยู่ 40% รวมถึงยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Wuling Air EV ซึ่งเป็นของบริษัท SAIC ในจีน เพิ่มขึ้น 65.2% ในปี 2023 และกลายเป็นแบรนด์รถยนต์ที่ขายดีเป็นอันดับ 2 ในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า 66% ของผู้ใช้รถยนต์ในอินโดนีเซียมีทัศนคติที่ดีต่อรถยนต์ไฟฟ้าของจีน เนื่องจากราคาที่จับต้องได้ ความสะดวกสบาย ฟีเจอร์ และนวัตกรรมที่น่าสนใจ
จีน ผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ฉลาก ‘Made In China’
ความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้าจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าจีนเริ่มได้รับการยอมรับในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งแตกต่างจากภาพลักษณ์เดิมที่ว่าจีนเป็นเพียง โรงงานของโลก (World Factory) ภายใต้คำว่า ‘Made In China’ ที่ถูกมองว่าผลิตสินค้าราคาถูกและมีมูลค่าเพิ่มต่ำ
จีน เล็งลงทุนธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การขยายตัวอย่างรวดเร็วของรถยนต์ไฟฟ้าจีนและการลงทุนที่เกี่ยวข้องในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ย้อนไปตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 จีนมีความสนใจด้านเทคโนโลยียานยนต์พลังงานใหม่อยู่แล้ว จนกระทั่งปี 2009 การพัฒนาอุตสาหกรรม EV ถึงได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องของจีนจึงได้เพิ่มการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างมากนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากการย้ายฐานการผลิตเข้ามายังภูมิภาคนี้แล้ว พวกเขายังมีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันความทะเยอทะยานในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีของประเทศสมาชิกอาเซียน
ทิศทางการเติบโตของตลาด EV ในประเทศไทย
ในส่วนของประเทศไทย ด้าน Great Wall Motor (GWM) ได้ลงทุนในสายการผลิตแบบครบวงจรถึง 2 สายการผลิต ขณะที่ทาง SAIC ได้สัญญาว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ ที่จะช่วยเสริมสร้างบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงด้าน BYD ก็ประกาศว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศดังกล่าว
ล่าสุด บริษัทผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า Ningbo Contemporary Brunp Lygend จากจีน ได้สัญญาว่าจะลงทุน 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย และเสริมสร้างความเป็นผู้นำในการจัดหาวัตถุดิบนิกเกิล (Nickel) ซึ่งเป็นหนึ่งในวัสดุที่สำคัญที่สุดสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
ความท้าทายในการบุกตลาดรถไฟฟ้าของจีน
การเติบโตของตลาด EV ของจีนนั้นขึ้นอยู่กับว่าบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องของจีนจะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดได้หรือไม่ เพราะการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจีนมาจากนโยบายสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาลจีนเป็นหลัก ในขณะที่รัฐบาลค่อยๆ ลดการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าลง ทางบริษัทจีนจะต้องปรับตัวให้เข้ากับตลาดและคงความได้เปรียบด้านราคา การวิจัยและการพัฒนาไว้ ขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายเก่าโดยเฉพาะจากญี่ปุ่น ซึ่งเคยครองตลาดรถยนต์ในอาเซียนมาก่อนก็กำลังแข่งขันเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ในราคาที่ประหยัดอยู่ด้วย
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญคือ จีนและบริษัทในจีนจะสามารถสร้างความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่สำคัญได้หรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องของชิปสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากสหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรการส่งออกชิปและอุปกรณ์ผลิตชิปให้กับจีน ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการพัฒนาด้านนี้ของจีน
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โอกาสตลาด EV จีนโต
ในช่วงเวลาที่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเป็นวาระสำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับโลก จีนสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าและการลงทุนด้านพลังงานสะอาดอื่นๆ เพื่อชนะใจพันธมิตร โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเทศได้นำนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ เพื่อมุ่งสู่สังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ทั้งนี้ รถยนต์ไฟฟ้าของจีนกำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในต่างประเทศ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การลงทุนของจีนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศ มีแนวโน้มจะทำสถิติสูงสุดใหม่ในปี 2566 และคาดว่าส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนจะเพิ่มเป็นเท่าตัวในปี 2573
แต่ก็ยังคงต้องรอดูว่าจีนจะสามารถรับมือกับความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ ความเหมาะสมในการเปลี่ยนแปลงและการปรับนโยบาย EV ในประเทศ การทำให้การลงทุน EV ในต่างประเทศระหว่างฝ่ายปกครองและฝ่ายค้านเป็นเอกฉันท์ในประเทศเจ้าบ้าน และสุดท้าย จีนจะจัดการทำให้บริษัท EV กลายเป็นสากลแบบก้าวกระโดด ท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์กับชาติตะวันตกที่เพิ่มขึ้นนี้ต่อไปอย่างไร
ขอบคุณที่มา : CNA