การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ที่ก่อนหน้านี้เหมือนทุกอย่างดูจะเข้าทาง “เทสลา” (Tesla) ทั้งยอดขายสูงขึ้น มูลค่าหุ้นเติบโต บริษัทเริ่มทำกำไร (เพิ่งกลับมามีกำไรหลังจากปี 2020) พร้อมขยายการลงทุนไปยังยุโรป เปิดโรงงาน Gigafactory ในเซี่ยงไฮ้, จีน กำลังการผลิตระดับ 9.5 แสนคันต่อปี
ปี 2023 เทสลามียอดขาย EV ทั่วโลกกว่า 1.8 ล้านคัน จากโรงงานผลิตในสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และจีน ทว่าในช่วง 2-3 ปีหลัง แทบไม่เห็นการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ หรือมีรถยนต์โมเดลใหม่ที่จะเข้ามาเป็น Game Change ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะ EV ราคาประหยัดก็ไม่คืบหน้า ขณะที่รถกระบะอย่าง Cybertruck ยังไม่ใช่รุ่นที่จะขยายตลาดไปได้ทั่วโลก
สำหรับข่าวที่ว่า เทสลา ศึกษาการลงทุนในอาเซียน ทั้งไทย และอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่เป็นการให้ข่าวจากฝั่งรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ว่าประสบความสำเร็จในการพูดคุย หรือมีแนวโน้มที่จะดึงเทสลา เข้ามาตั้งโรงงาน แต่จริงๆแล้ว ไม่เคยมีข่าวอย่างเป็นทางการที่ออกมาจาก Tesla, Inc. หรือคำยืนยันของบอสใหญ่ “อีลอน มัสก์”
แน่นอนว่า ค่ายรถอเมริกันรายนี้ ย่อมแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ หวังสร้างรายได้ ปั้นผลกำไรให้เติบโต แต่เมื่อพิจารณาสภาพเศรษฐกิจ และการแข่งขันในตลาด EV ปัจจุบัน การตัดสินใจทำโปรเจกต์ใดโปรเจกต์หนึ่ง อาจจะไม่รวดเร็วเหมือนแผนทุ่มขยายอาณาจักรเทสลา ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ที่สำคัญในช่วงสงครามราคา EV ระอุ ทุกค่ายต่างกระโดดลงมาในศึกนี้ ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์ยุโรป รถเยอรมนี ส่วนบีวายดี ของจีนนั้น มีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องมียอดขาย EV เป็นอันดับหนึ่งของโลก เหนือ เทสลา ให้ได้
สำหรับยอดขาย เทสลา ทั่วโลกช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.- มิ.ย.2024) กว่า 830,000 คัน แม้จะลดลง 6.6% แต่ยังขาย EV ได้มากกว่า บีวายดี (726,153 คัน) หากนับเฉพาะไตรมาสที่สองปีนี้ เทสลาส่งมอบรถไป แล้ว 443,956 คัน
อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นยอดขายที่ลดลงครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2020 ของเทสลา สะท้อนดีมานด์ EV ที่ลดลงทั่วโลก ประกอบกับการมาของผู้เล่นหน้าใหม่จากจีน รวมถึงบรรดาแบรนด์ดั้งเดิมเริ่มขยับตัว (รถยุโรป,ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา) บวกกับการแข่งขันด้านราคา ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เทสลา ต้องขยับปรับตัวอย่างหนัก
ส่วนแผนการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย ตามที่มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ หากดูจากขนาดตลาดรวม 6-8 แสนคันต่อปี ครึ่งหนึ่งเป็นสัดส่วนของรถยนต์นั่ง และเซกเมนต์ EV ประมาณ 1 แสนคัน ซึ่งการลงทุนมหาศาลในการตั้งโรงงาน คงต้องคำนึงถึงต้นทุนต่อหน่วยการผลิต ทว่ายอดขาย เทสลา ในไทยยังไม่สมเหตุสมผล
เมื่อเทียบกับ ตลาดจีนและมีโรงงาน Gigafactory ในเซี่ยงไฮ้ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า พร้อมประตู FTA จีน-อาเซียน เปิดกว้างให้สามารถส่ง EV มาขายได้โดยไม่เสียภาษีนำเข้า เบ็ดเสร็จ ดีดลูกคิดแล้ว แนวทางนี้ยังทำกำไรกว่าเห็นๆ
หากไม่มีเงื่อนไขทางการค้าใหม่ๆ หรือความท้าทายจาก EV ราคาประหยัด เชื่อว่าการกำหนดยุทธศาสตร์ในอาเซียนของเทสลา ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้