รถจีน 8 ค่ายรวมพลัง วอนรัฐผ่อนผันเงื่อนไขจำนวนผลิต EV 3.0 ชี้สงครามราคาไม่จบ

11 ก.ย. 2567 | 03:50 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 06:15 น.

รถจีน 8 ค่าย รวมพลังส่งสัญญาณ ต้องการให้ภาครัฐหยืดหยุ่นเงื่อนไข โครงการ EV 3.0 ที่กำหนดจำนวนการผลิตในประเทศ เพื่อชดเชยการนำเข้า แย้มหากกำลังผลิตล้น แบกสต็อก คงต้องใช้แผนลดราคากระหน่ำเหมือนที่เคยทำมา คาดตลาด EV ปีนี้ต่ำกว่า 1 แสนคัน

ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา 8 ค่ายรถยนต์จีน ระดับผู้บริหารใหญ่ชาวจีน นัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแนวทางในการดำเนินธุรกิจในไทย รวมถึงสงครามราคาที่เกิดขึ้น นำโดย BYD, NETA, MG, Great Wall Motor, CHANGAN, GAC AION, OMODA & JAECOO(เชอรี่) และ ZEEKR ซึ่งมีสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เป็นตัวกลาง

 

ตามที่ค่ายรถยนต์จากจีนตบเท้าเข้ามาลุยตลาดไทย จากประตูที่เปิดกว้างทั้ง EV ไม่เสียภาษีนำเข้าภายใต้กรอบ FTA รวมถึงโครงการ EV 3.0 และ EV 3.5 ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน แลกกับเงื่อนไขว่า ใครที่นำเข้ารถมาจากจีนเพื่อใช้สิทธิ์นี้ก่อน ต้องมีแผนผลิตในประเทศชดเชยการนำเข้าตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

รถจีน 8 ค่ายรวมพลัง วอนรัฐผ่อนผันเงื่อนไขจำนวนผลิต EV 3.0 ชี้สงครามราคาไม่จบ

โดยโครงการ EV 3.0 ค่ายรถที่เริ่มผลิตคืนในปี 2567 จะต้องทำชดเชยในอัตราส่วน 1:1 คัน แต่ถ้าเริ่มในปี 2568 จะต้องผลิตคืน 1.5 คัน หากนำเข้ามา 1 คัน

 

ปัจจุบัน 8 อรหันต์จีน อย่าง BYD, Neta, MG, Great Wall Motor, และ GAC AION มีโรงงานผลิต EV ในไทยแล้ว ส่วน OMODA & JAECOO ของเชอรี่ และ CHANGAN จะพร้อมต้นปี 2568 โดยแต่ละค่ายวางแผนการผลิตไว้ชัดเจน และหากเป็นไปตามที่ผู้บริหารประกาศ ยอดผลิต EV ในไทยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนมากกว่า 4 แสนคันต่อปี

 

สำหรับค่ายรถยนต์ที่ลงทุนระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไป พร้อมสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นของตนเองในพื้นที่ จ.ระยอง เบื้องต้นมี บีวายดี และฉางอาน

 

นายวัง ชวนฟู ซีอีโอ บีวายดี ประเทศจีน เปิดเผยว่า ขอเวลา 2 ปี โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบีวายดี ในไทย ที่ จ.ระยอง จะทำได้เต็มกำลังผลิตที่ 150,000 คันต่อปี

“ความสามารถในการผลิตของโรงงาน BYD ในประเทศไทยคือ 1.5 แสนคันต่อปี โดยจะใช้เวลา 2 ปีเพื่อผลิตอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้ นอกจากขายในประเทศไทย บริษัทฯมีนโยบายที่จะส่งออกขายในภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซีย และเวียดนามด้วย” นายวัง กล่าว

รถจีน 8 ค่ายรวมพลัง วอนรัฐผ่อนผันเงื่อนไขจำนวนผลิต EV 3.0 ชี้สงครามราคาไม่จบ

ด้านนายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสเอเชีย จำกัด เปิดเผยว่า โรงงานฉางอาน ในประเทศไทย จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาของฉางอานทั่วโลก ส่งไปอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ รวมถึงสหราชอาณาจักร

 

“บริษัทยังมีแผนให้ไทยผลิตรถยนต์พวงมาลัยซ้าย โดยวางกำลังการผลิตสูงสุดในเฟสแรกไว้ 100,000 คันต่อปี จากนั้น เฟสสองจะเพิ่มเป็น 200,000 คันต่อปี” นายเซิน กล่าวสรุป

 

อย่างไรก็ตาม จากการประชุมล่าสุดของ 8 ค่ายรถชื่อดัง เห็นพ้องต้องกันว่า จากสภาพตลาดรถยนต์ที่ซบเซา ไม่เหมือนจากที่เคยประเมิน และการส่งออกยังไม่คืบหน้า ดังนั้นเงื่อนไขในโครงการ EV 3.0 ที่ต้องผลิตคืนในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่าการนำเข้ามาอาจทำได้ยาก

 

แหล่งข่าวผู้บริหารค่ายรถจีนรายหนึ่งเปิดเผย ฐานเศรษฐกิจว่า หากจะต้องผลิต EV ในไทยให้ถึงจำนวนตามเงื่อนไข EV 3.0 ณ เวลานี้ อาจจะมีความท้าทายจากสภาพตลาด และปัญหาเศรษฐกิจ คาดว่าตลาด EV ปีนี้จะทำได้ไม่ถึง 1 แสนคัน ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้มาก

 

“หากผลิตออกมาเยอะ (เพราะเงื่อนไขภาครัฐบังคับ) แล้วขายไม่ได้ จนรถค้างสต๊อก ทุกค่ายก็ต้องเริ่มลดราคา ทำโปรโมชัน ซึ่งจะกลายเป็นสงครามราคาเหมือนเดิม ดังนั้นอยากจะให้ภาครัฐพิจารณาเงื่อนไขกำลังผลิตในโครงการ EV 3.0 หรือ EV 3.5 ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ตลาด” แหล่งข่าวกล่าว

 

ด้านแหล่งข่าวอีกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า การประชุมร่วมของบริษัท EV จีน ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่อง ยุติสงครามราคา หรือจะต้องชะลอโปรโมชันลงหรือไม่ ซึ่งแต่ละค่ายวางกลยุทธ์ด้านราคา ที่จะเป็นไปตามกลไกตลาด

ล่าสุด เรเว่ ออโตโมทีฟ เปิดตัว EV รุ่นใหม่ BYD M6 เอ็มพีวีเบาะ 3 แถว 6 ที่นั่ง ใช้แบตเตอรี่ LFP ความจุ 71.8 kWh ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง วิ่งได้ระยะทาง 530 กม. แบ่งการทำตลาดเป็น 2 รุ่นย่อย DYNAMIC ราคา 829,900 บาท EXTENDED ราคา 929,900 บาท ส่วนรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่นๆ ยังมีโปรโมชันอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่ ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสเอเชีย เตรียมเปิดตัวรถแบรนด์ใหม่ AVATR 11 เอสยูวีพรีเมี่ยม ในวันที่ 17 กันยายนนี้