รถยนต์นั่ง EV จีนไม่เสียภาษีนำเข้าตามกรอบ FTA จีน-อาเซียน ทว่ากลุ่มไฮบริด (HEV) ปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) และอีวีแบบขยายระยะทางวิ่ง (EREV-Extended Range EV) ยังต้องเสียภาษีนำเข้า
ดังนั้น เมื่อโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย ของบรรดาผู้ผลิตจีนพร้อม แผนงานต่อไปคือเพิ่มความหลากหลายให้ตัวโปรดักต์ ทั้งรูปแบบตัวถัง และกลุ่มพลังงานใหม่ เช่น PHEV และ EREV
สำหรับ PHEV และ EREV จะมีทั้งเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้า รวมถึงชุดแพกแบตเตอรี่ สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟจากภายนอกได้ (หรือใช้เครื่องยนต์ปั่นพลังงานไฟฟ้า) ทว่า ต่างกันที่อีวีแบบขยายระยะทางวิ่ง จะใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนล้อ 100% ต่างจากรถปลั๊ก-อินไฮบริด ที่เครื่องยนต์ยังสามารถส่งกำลังลงสู่ล้อได้โดยตรง (ทำงานแบบไฮบริดพาราเรล และไฮบริดซีรีส์)
บีวายดี ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของจีน มีโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ จ.ระยอง ปัจจุบันขึ้นไลน์ประกอบ EV รุ่น BYD DOLPHIN, BYD ATTO 3 เอสยูวีปลั๊ก-อินไฮบริด BYD SEALION 6 DM-i และปีนี้ยังเตรียมเสริมทัพซีดานรุ่นใหม่ BYD SEAL 5 DM-i ส่วนปิกอัพปลั๊ก-อินไฮบริด BYD Shark 6 มาแน่ แต่คาดว่าจะขยับแผนไปเป็นปี 2569
BYD SEAL 5 DM-i เป็นคอมแพกต์ซีดานที่ระดับการทำตลาดต่ำกว่า BYD SEAL EV มีมิติตัวถังยาว 4.78 เมตร ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร ผสานการทำงานกับมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังรวม 197 แรงม้า แรงบิด 316 นิวตัน-เมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 7.9 วินาที พร้อมแบตเตอรี่ความจุ 8.3 kWh วิ่งในโหมด EV ได้ระยะทาง 50 กม.
ทั้งนี้ บีวายดี วางให้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวาและซ้าย เพื่อรองรับตลาดส่งออก ด้วยความสามารถในการผลิตสูงสุด 150,000 คัน/ปี นั่นหมายรวมถึงรถอีวี และปลั๊ก-อินไฮบริด
ในส่วน ฉางอาน ประกาศชัดเจนว่า เตรียมขึ้นไลน์ประกอบรถพลังงานใหม่ในไทยรุ่นแรกคือ Deepal S05 ที่จะมีให้เลือกทั้ง EV และ EREV
นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสเอเชีย จำกัด เปิดเผยว่า ตามแผนการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ฉางอาน โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าฉางอาน ในประเทศไทย จะส่งออกรถพวงมาลัยขวาไปอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนให้ไทยผลิตรถยนต์พวงมาลัยซ้าย โดยวางกำลังการผลิตสูงสุดในเฟสแรกไว้ 100,000 คันต่อปี จากนั้นเฟสสองจะเพิ่มเป็น 200,000 คันต่อปี
“ในอนาคตสัดส่วนการขายรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ของไทย จะแบ่งเป็น EV 40% และ xEV (PHEV,EREV) 30% ส่วนรถ ICE กับ HEV รวมกัน 30% จากนั้นปี 2573 คาดว่ากลุ่ม xEV จะเพิ่มสัดส่วนไปถึง 50%” นายเซิน ซิงหัว กล่าว
ขณะที่น้องใหม่ จูนเหยา เตรียมขึ้นไลน์ประกอบรถ EV และ EREV ในไทยเช่นกัน โดยเตรียมไปตั้งโรงงานที่ จ.สุพรรณบุรี ด้วยความร่วมมือกับ สกุลฎ์ซี แต่กว่าสายการผลิตจะพร้อมต้องรอถึงต้นปี 2569
จูนเหยา จัดงานเปิดตัวธุรกิจ พร้อมแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า EV รุ่นแรกในไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา กับ Joneyao Air มีให้เลือก 2 รุ่น Standard ราคา 759,000 บาท และรุ่น Plus ราคา 869,000 บาท
ตามแผนงานของ จูนเหยา เตรียมเพิ่มไลน์อัพรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ในปี 2568 กับ บี-เอสยูวี พลังงานไฟฟ้า 100% จากนั้นปี 2569 จะเปิดตัวปิกอัพไฟฟ้า และ ซี-เอสยูวี ที่มีขุมพลัง EREV ด้วย