thansettakij
เช็ก “ประกันรายได้ยางพารา” เฟส 3 ล่าสุด

เช็ก “ประกันรายได้ยางพารา” เฟส 3 ล่าสุด

13 ก.ย. 2564 | 10:13 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2564 | 19:19 น.

จับตา 15 ก.ย. “กนย.” ไฟเขียว “ประกันรายได้ยางพารา” เฟส 3 ล่าสุด รับเงินส่วนต่างราคายาง สูงสุด 60 บาท/กก. “อุทัย” ส่งต่อเนื่อง ยันเป็นนโยบายรัฐ เดินหน้าต่อเนื่อง ขณะที่ “สุนทร” บอร์ด กยท. เผย 1.8 ล้านราย ขึ้นทะเบียน ภายใน 14 มิ.ย.ใช้งบกว่าหมื่นล้าน

โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา “ประกันราคายางพารา” เดินทางมาอย่างต่อเนื่อง ในระยะที่3 หรือ  เฟส3 มีความคืบหน้าตามลำดับ

อุทัย สอนหลักทรัพย์ อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

 นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  กนย. จะมีการจัดประชุมในวันที่ 15 กันยายน ที่จะถึงนี้ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธาน กนย. เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งจะมีวาระสำคัญต่อพี่น้องเกษตรกร ก็คือ การขออนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่3 ซึ่งคาดว่าจะไม่มีปัญหา เนื่องจากเป็นนโยบายรัฐบาล คงจะไม่ขอเพิ่มในเรื่องราคาประกัน เพราะทราบดีว่ารัฐบาลไม่มีเงิน และมีภาระที่ใช้จ่ายเกี่ยวกับโควิดให้กับประชาชนในกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย

 

สุนทร รักษ์รงค์ สุนทร รักษ์รงค์

 

สอดคล้องกับนายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้การขยายตัวทางอุตสาหกรรมลดลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในอุตสาหกรรมยางพาราของโลก ได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศผู้บริโภคยางพาราหยุดการบริโภคมีผลกระทบต่อการส่งออก ทำให้เกิดภาวะราคายางตกต่ำ จึงส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความยากลำบากในการดำรงชีวิตจากราคายางที่ตกต่ำ

 

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางโดยการใช้มาตรการทางอ้อม (Indirect Payment) ซึ่งเป็นแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้สม่ำเสมอในภาวะวิกฤติจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID - 19 โดยการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีที่รายได้ของเกษตรกรลดลงจากรายได้ที่คาดว่าเกษตรกรควรจะได้รับ และลดผลระทบต่อการดำเนินชีวิตของเกษตรกร

ประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย และแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,880,458 ราย พื้นที่สวนยางกรีดได้ 19,163,572 ไร่

 

เป็น เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน  25 ไร่ ใช้งบประมาณ วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,213,445,550.59 บาท

 

กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวน 20 กิโลกรัม (ผลผลิตยางแห้ง/ไร่/เดือน) x จำนวนไร่ (รายละไม่เกิน 25 ไร่) และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวน 40 กิโลกรัม (ผลผลิตยาง/ไร่/เดือน) x จำนวนไร่ (รายละไม่เกิน 25 ไร่)  กำหนดระยะเวลาประกันรายได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565)

 

กำหนดเงินค่าประกันรายได้ในแต่ละเดือน ดังนี้

 

เงินค่าประกันรายได้ในแต่ละเดือน = (ราคายางที่ประกันรายได้ – ราคากลางอ้างอิง การขาย )  x ปริมาณผลผลิตยางตามเนื้อที่กรีดยาง

 

 ราคายางที่ประกันรายได้โดยกำหนดให้:ราคายางที่ใช้ประกันรายได้แต่ละชนิด (บาท/กิโลกรัม)

 

  • ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60.00 บาท/กิโลกรัม
  • น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม
  • ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาท/กิโลกรัม

 

สำหรับ ราคากลางอ้างอิงการขาย หมายถึง ราคาที่คณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิง ประกาศทุก 1 เดือน (บาท/กิโลกรัม) พิจารณาจาก ราคาตลาดกลางยางพารา, SICOM, TOCOM, เซี่ยงไฮ้ และปัจจัยอื่นๆ โดยใช้ข้อมูลในรอบเดือนที่ชดเชยส่วนต่าง ประกอบการพิจารณา

ครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 จะใช้วิธีการคำนวณปริมาณผลผลิตยางตามเนื้อที่กรีดยาง หมายถึง ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวน 20 กิโลกรัม (ผลผลิตยางแห้ง/ไร่/เดือน) x จำนวนไร่ (รายละไม่เกิน 25 ไร่) และผลผลิตยางก้อนถ้วย  (DRC 50%) จำนวน 40 กิโลกรัม (ผลผลิตยาง/ไร่/เดือน) x จำนวนไร่ (รายละไม่เกิน 25 ไร่)  แบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ ทั้งหมด

 

นายสุนทร กล่าวว่า บอร์ด กยท. เห็นชอบแล้ว เพราะ พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3  สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID - 19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง โดยจะสามารถเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับเกษตรกรชาวสวนยางได้ โดยไม่บิดเบือนกลไกราคายางพาราในระบบ จึงเห็นสมควรดำเนินโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 วันที่ 15 ก.ย.นี้ รอลุ้น "กนย." ไฟเขียวประกันรายได้ยางพารา เฟส3