อุตสาหกรรมยานยนต์ ยุคโควิด-19 ต้นทุนการผลิตพุ่ง กำไรหด

21 ก.ย. 2564 | 00:32 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2564 | 08:50 น.

รายงานพิเศษ ข่าวเศรษฐกิจ - อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ฝ่าวิกฤติในยุคโควิด-19 ผู้ประกอบการโอดต้นทุนการผลิตพุ่ง กำไรต่อหน่วยลดลง

อุตสาหกรรมยานยนต์เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ โดยประเทศไทยมีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ระดับเมเจอร์กว่า 10 แบรนด์ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิต ส่วนรถจักรยานยนต์มาครบ ทั้งแบรนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ต่างตั้งโรงงานผลิตรถเล็กและรถใหญ่ เพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออก โดยเชื่อมโยงกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายระดับ (Tier) เกือบ 2,000 บริษัท ส่งเสริมการจ้างงานทั้งระบบมากกว่า 3 แสนคน

อุตสาหกรรมยานยนต์ ยุคโควิด-19 ต้นทุนการผลิตพุ่ง กำไรหด

 

ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและทั่วโลก โดนผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการ ผลิต โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ หรือ “ชิป” ในขณะที่บางโรงงานชิ้นส่วนต้องปิดชั่วคราว เนื่องจากพนักงานติดเชื้อโควิด-19 จึงไม่สามารถส่งชิ้นส่วนเข้าโรงงาน OEM ได้ตามกำหนด ทำให้รถยนต์หลายรุ่นมีปัญหาเรื่องการผลิต หรือภาพใหญ่คือ บางโมเดลต้องเลื่อนการเปิดตัวออกไปจากแผนเดิม

 

นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตที่สูงขึ้นโดย “ไทยยามาฮ่ามอเตอร์” ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่ เคยรายงานว่า ตั้งแต่ต้นปี 2564 ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น เช่น โรเดียม และอลูมิเนียม

 

“กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนวงจรไฟฟ้าและอะไหล่อื่นๆ พร้อมกับราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายทัตสึยะ โนซากิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าว

 

ทั้งนี้ ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ คาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศปี 2564 ยอดขายจะทรงตัวที่ 1.53 ล้านคัน (เพิ่มขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563)

ด้านผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ ต้องลุ้นว่าจะทำได้ถึง 8 แสนคัน ตามที่เคยคาดหมายกันเอาไว้หรือไม่ ขณะที่ผู้ประกอบการต่างประสบปัญหาเรื่องการวางแผนการผลิต

 

“จากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ผลกำไรของบริษัทติดลบไปพอสมควร เพราะค่าใช้จ่ายเท่าเดิม แต่ยอดขายและกำไรต่อหน่วยลดลงไปมาก ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ แม้บางคนจะมีกำลังซื้อ แต่อารมณ์ในการจับจ่ายใช้ สอยไม่ค่อยมี รวมถึงสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะบุคคลหรือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ที่ไฟแนนซ์จะพิจารณาอย่างละเอียด และแทบไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ” แหล่งข่าวกล่าว

 

ส่วนยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ที่สวนทางสถานการณ์ด้วยการออกมาปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิต เพราะคู่ค้าในหลายๆ ประเทศ เริ่มกลับมาสั่งซื้อรถยนต์มากขึ้น

อุตสาหกรรมยานยนต์ ยุคโควิด-19 ต้นทุนการผลิตพุ่ง กำไรหด

 

รายงานจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ว่า บริษัทได้ปรับเป้าหมายการขายรถยนต์ในตลาดรวมปี 2564 เหลือ 8 แสนคัน (ต้นปีประเมินไว้ 8.5-9.0 แสนคัน) แต่เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ทำได้ 7.92 แสนคัน ส่วนเป้าหมายการผลิตรถยนต์โตโยต้าจาก 3 โรงงานในไทย เดิมวางไว้ 5.27 แสนคัน ล่าสุดปรับขึ้นเป็น 5.8 แสนคัน ในจำนวนนี้เป็นการส่งออก 3.22 แสนคัน เพิ่ม ขึ้นจากปี 2563 ที่ 2.15 แสนคัน

 

“มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อทิศทางของตลาดรถยนต์ในปีนี้ ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิด-19 ระลอกล่าสุด การเข้าถึงวัคซีนของประชาชน รวมถึงแนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ตลอดจนการสนับสนุน จากองค์กรเอกชนทุกภาคส่วนที่ผนึกกำลังในการร่วมคลี่คลายสถานการณ์ เรามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะสามารถฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น” นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวสรุป

 

จากแผนงานของโตโยต้าเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยเริ่มมีทิศทางดีขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อน (ประมาณ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนเริ่มใจชื้น

อุตสาหกรรมยานยนต์ ยุคโควิด-19 ต้นทุนการผลิตพุ่ง กำไรหด

 

อย่างไรก็ตาม คอขวดเรื่องการนำเข้า-ส่งออก ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าระวางเรือพุ่งขึ้นเท่าตัวส่งผลโดยตรงต่อต้นทุน และการวางแผนการส่งออก ยิ่งในช่วงปลายปีกำลังเข้าสู่พีคซีซั่นของการส่งออกพบว่าตู้ขนาด 40 ฟุต มีค่าระวางประมาณ 7 แสนบาทต่อตู้ เพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับภาวะปกติหรือก่อนปี 2563 (ประมาณ 1.5 แสนบาทต่อตู้)

 

...ทั้งหมดเป็นปัจจัยลบ และสัญญาณบวกของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีนี้ ส่วนบทสรุปจะเป็นไปตามที่แต่ละบริษัทวางไว้หรือไม่ ยังต้องติดตาม