5 เทรนด์ จุดเปลี่ยน'ธุรกิจเฮลแคร์' 'นวัตกรรม' ยกระดับ คุณภาพการแพทย์ไทย

21 ธ.ค. 2565 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ธ.ค. 2565 | 15:04 น.

ร.พ.ไทยนครินทร์ ฉายภาพจุดเปลี่ยน ธุรกิจการแพทย์ จากบทบาท เทคโนโลยี-นวัตกรรม ชี้ก่อเกิด 5 เทรนด์สำคัญ ปลุก 'เมดิคัลฮับ' และยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ไทย ประโยชน์ตั้งแต่ตรวจคัดกรอง -วินิจฉัย และรักษาแบบตรงจุด

21 ธ.ค.2565 - นพ. พิเชฐ ผนึกทอง ผู้อำนวยการงานคุณภาพ และ ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหาร สายงานการตลาด โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ระบุ ถึงเทรนด์นวัตกรรมทางการแพทย์ กับอนาคต 'เมดิคัลฮับ' ของไทย ในเวทีเสวนา :INNOVATION DRIVING THE FUTURE งานสัมนา NEXT STEP THAILAND 2023: ทิศทางแห่งอนาคต ที่จัดโดยสื่อเครือเนชั่นกรุ๊ป ว่า สำหรับ ธุรกิจการแพทย์ หรือ เฮลแคร์ของไทยนั้น ก่อนหน้าถูกดิสรัปชั่นด้วยบทบาทของนวัตกรรม-เทคโนโลยีมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา นับเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้ธุรกิจนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ก่อให้เกิด 5 เทรนด์สำคัญ ดังนี้ 
 

  1. AI (ปัญญาประดิษฐ์)
  2. Personalized Healthcare (การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล )
  3. Retail Healthcare (ศูนย์กลางบริการสุขภาพสมัยใหม่)
  4. Telehealth (เทคโนโลยีการแพทย์)
  5. Wearable Medical Devices (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ )
     

สำหรับประโยชน์ต่อการนำนวัตกรรมมาใช้ในทางการแพทย์นั้น นพ. พิเชฐ กล่าวว่า จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ จะทำให้การรักษาผู้ป่วยมีคุณภาพมากขึ้นทุกขั้นตอน เนื่องจากเป็นการเพิ่มความปลอดภัย  จากเริ่มแรกที่นวัตกรรมช่วยให้การวินิจฉัยโรคมีความแม่นยำมากขึ้น ก็จะนำมาซึ่งการรักษาที่ถูกต้องมากขึ้น 

 

อย่างบางกรณี ช่วยลดผลเสียที่เกิดขึ้นแบบในอดีตได้ เช่น เดิมการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง แพทย์มีความจำเป็นต้องใช้วิธีการ ฉายแสงทั่วร่าง แต่ปัจจุบัน สามารถวินิจฉัยและพุ่งเป้าการฉายแสงไปที่เซลล์มะเร็งโดยตรงได้เลย และตัวอย่างของประโยชน์ที่เห็นชัดเจนสุด ก็คือ การตรวจรักษา ผู้ป่วยโควิด19 จำนวนมหาศาลในช่วงที่ผ่านมา ลดกระบวนการการตรวจเอ็กซเรย์วินิจฉัยโรคอย่างในอดีต ที่ทำได้ยากและมีความล่าช้า  

 

ขณะเดียวกัน ประโยชน์ของนวัตกรรม ช่วยในแง่เก็บข้อมูล เพื่อวางแผนการรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง ลดระยะเวลาและขั้นตอนทางการแพทย์

 

ประเด็นสำคัญที่จะเกิดประโยชน์กับสังคมไทยสูงสุด นพ. พิเชฐ กล่าวว่า ขณะนี้ปฎิเสธไม่ได้ ว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ซึ่งคนไทยมีความจำเป็นต้องเตรียมตัว เนื่องจาก ข้อมูลทางสถิติ บ่งชี้ชัดขึ้นว่า โรคร้ายต่างๆ ที่มีความน่ากลัวมากขึ้น  เช่น โรคมะเร็ง มีอัตราป่วยมากขึ้นในคนไทย ซึ่งมาจากแนวโน้มการสัมผัสสารก่อมะเร็งมากขึ้น กับ อีกส่วน คือ มาจากกรรมพันธุ์ 

 

ซึ่งนวัตกรรมจะเข้ามาช่วยตรวจคัดกรองความเสี่ยงทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวได้ เพื่อนำไปสู่การป้องกัน หลีกเลี่ยง หรือ ดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ ขณะในขั้นตอนการรักษา อดีตต้องใช้การฉายแสงเท่านั้น แต่ปัจจุบัน รักษาพุ่งเป้าได้ และ การผ่าตัดที่แผลเล็กลง ล้วนเป็นประโยชน์ของนวัตกรรมแทบทั้งสิ้น 

 

อีกทั้ง นวัตกรรมทางการแพทย์ จะช่วยค้นหาความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามความเสื่อมของอายุขัยในวัยต่างๆได้ด้วย ถือเป็นการยกระดับวงการแพทย์ไทย และ จะช่วยให้ไทยไปสู่เป้าหมาย เมดิคัลฮับได้ไม่ยากในอนาคต 

"ทุก ร.พ. ไม่อยากรักษาโรค แต่อยากให้คนไทยสุขภาพดีมากกว่า สุขภาพ คือ ทรัพยากรที่มีค่าที่สุด รพ.อยากเป็นส่วนร่วมในการดูแล ตั้งแต่ ป้องกัน -วินิจฉัย และ รักษาอย่างมีประสิทธิภาพ อยากให้ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกัน โดยใช้จุดเปลี่ยนเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับ  "