28 ธันวาคม วันสำคัญ "วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

28 ธ.ค. 2565 | 01:20 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2565 | 08:24 น.

28 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี

 

วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าให้แก่ประเทศไทย และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีเพียงพระองค์เดียว 

 

พระราชประวัติ

 

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระนามเดิมว่า "สิน” พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ชื่อ "นายไหฮอง” ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ”นางนกเอี้ยง” ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระธรรมราชาธิราชที่ 3 ) ซึ่งเจ้าพระยาจักรีได้ขอไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย 

 

ต่อมาเมื่ออายุครบ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครั้น พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 3 เดือนเศษ ก็ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช "สมเด็จพระบรมราชาที่ 3” (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์) 

 

สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงาน เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งปฏิบัติราชการได้รับความดีความชอบมากจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองตาก ช่วยราชการพระยาตากครั้นพระยาตากถึงแก่กรรม ก็ทรงโปรดให้เลื่อนเป็น "พระยาตาก ปกครองเมืองตาก

 

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เมื่อพระชนมพรรษา 48 พรรษา รวมเวลาครองราชย์ 15 ปี พระองค์ทรงเป็นวีรกษัตริย์ของชาติไทยที่ประชาชนรู้จักดี และเป็นที่เคารพสักการะมากที่สุดพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีพระบรมราชานุสรณ์ของพระองค์ประดิษฐานมากที่สุดพระองค์หนึ่งด้วย

 


พระราชกรณียกิจสำคัญ

 

พระราชกรณียกิจของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถ รอบด้านของพระองค์ ทั้งการวางแผนการรบ จนสามารถขับไล่ทหารพม่าออกไปจากราชอาณาจักรกอบกู้เอกราชได้สำเร็จภายในเวลา 7 เดือน นับตั้งแต่ที่เสียกรุงเมื่อปี พ.ศ. 2310

 

  • การกู้เอกราช เมื่อปี พ.ศ. 2309

 

พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระเจ้าเอกทัศ และได้เสียกรุงแก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 เหตุการณ์ในกรุงศรีอยุธยาขณะนั้นเกิดความระส่ำระสาย ทหารพม่าได้ล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ พระยาตากเห็นว่าคงสู้พม่าไม่ได้แล้ว จึงนำทหารจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่าออกมา และได้รวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองจันทบุรี แล้วยกทัพกลับไปตีพม่าที่กรุงศรีอยุธยา ทัพของพระยาตากสามารถตีพม่าจนแตกพ่ายไป พระยาตากสามารถรวบรวมผู้คนกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาจากพม่าได้ภายในเวลา 7 เดือน

 

  • การสร้างและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง

 

หลังจากได้กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนจากพม่าได้แล้ว พระองค์ทรงเห็นว่าทางกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าเผาผลาญเสียหายมากและยากที่จะฟื้นฟูให้เจริญเหมือนเดิมได้ พระองค์จึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี แล้วทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 4 ครองกรุงธนบุรีอยู่ 15 ปี นับว่าเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่ปกครองกรุงธนบุรี

 

  • พระราชกรณียกิจอื่น ๆ

 

นอกจากจะทรงกู้เอกราชและทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแล้ว พระองค์ยังได้ขยายอาณาเขตโดยตีเวียงจันทน์ได้และอัญเชิญพระแก้วมรกตมา ประดิษฐานไว้ที่เมืองหลวง  ทรงทำนุบำรุงศาสนาและทรงส่งเสริมให้คนแต่งหนังสือต่าง ๆ ขึ้น  เพราะหนังสือตำราอันมีค่าที่ถูกพม่าเผาไปเกือบหมด ทรงเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของราษฎรเป็นอย่างดี แม้ว่าจะต้องทำสงครามกับพม่า ตลอดเวลาก็ตาม

 


ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรีจึงประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" และถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช" เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาติไทย ผู้กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย และได้สร้างอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ประทับเหนืออัศวราชพาหนะ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ประดิษฐานบนแท่นคอนกรีตเสริมเหล็ก ณ บริเวณวงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และให้ประชาชนชาวไทยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์สืบต่อไป