4 เทรนด์ การทำงาน ปี 2023 ที่ 'ผู้นำ'ควรรู้!

08 ม.ค. 2566 | 12:41 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2566 | 19:46 น.

SEAC เผย 4 เทรนด์การทำงานในปี 2023 ที่หัวหน้า และ ผู้นำ ควรรู้! ป้องกันพนักงาน หมดไฟการทำงาน และนำไปสู่ การลาออกครั้งใหญ่ ทำอย่างไร?ให้คนทำงาน หาจุดสมดุลชีวิตให้เจอ

8 ม.ค.2566 - เกาะกระแสโลกการทำงานยุคใหม่ โจทย์ใหญ่ของ คนเป็น ‘หัวหน้า’ หรือ ‘ผู้นำองค์กร’ ที่ต้องเรียนรู้ 4 เทรนด์การทำงานในปี 2023

 

โดย SEAC  ศูนย์พัฒนาผู้นำและผู้บริหารระดับสูง ระบุว่า แม้เราจะก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่กันแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปัญหาที่สะสมจาก ‘ปีเก่า’ หลายอย่างก็ยังคงอยู่ต่อเนื่องเรื่อยมาหลายประเด็นด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมองค์กรของคนทำงานที่แม้จะจับต้องเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่กลับส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับตัวองค์กร 

ตั้งแต่เพอฟอร์แมนซ์ของพนักงาน ภาพรวมของทีม  ไปจนถึงระดับองค์กรหรือบริษัท ที่หากปล่อยให้ประสบการณ์เหล่านี้เรื้อรังต่อไปเรื่อยๆ ก็มีแต่จะทำให้สภาพจิตใจคนทำงานแย่ลง

ประกอบกับเทรนด์การทำงานของคนเจนแซดที่เปลี่ยนแปลงไป โจทย์จึงกลับมาที่ ‘หัวหน้า’ หรือ ‘ผู้นำองค์กร’ ว่า จะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีการแบบไหน ทำอย่างไรให้คนทำงานหาจุดสมดุลของตัวเองได้ดีที่สุด

4 เทรนด์ การทำงาน ปี 2023 ที่ \'ผู้นำ\'ควรรู้!

4 เทรนด์การทำงานในปี 2023 

  • จัดการกับภาวะ Burnout ของคนในทีมให้ได้

ภาวะหมดไฟหรือ Burnout อยู่กับคนทำงานมาหลายปีแล้ว แต่ในปี 2023 ยิ่งทวีคูณมากกว่าเดิม หัวหน้าทีมและผู้นำองค์กรต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องพนักงานหมดไฟมากขึ้น โดยมีสาเหตุจากปัญหาเรื่องภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน รวมถึงความท้าทายด้านสุขภาพที่ในปีนี้ยังคงเป็นวาระแห่งชาติอยู่เช่นกัน

 

ทั้งนี้ เว็บไซต์ Harvard Business Review ได้ระบุว่า คำว่า ‘Burnout Symptoms’ กลายเป็นคำค้นอันดับต้นๆ บนกูเกิล รั้งสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 ซึ่งนี่อาจจะยังไม่ใช่จุดสูงสุดของภาวะดังกล่าว เพราะในปี 2023 นี้ ผู้นำองค์กรต้องเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

 

โดยสิ่งที่หัวหน้าควรทำมีอยู่ 2 ส่วนหลักๆ อย่างแรก เปิดโอกาสให้พนักงานได้ลองทำสิ่งใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปดูบ้าง อย่าปิดกั้นหากพวกเขาต้องการทำสิ่งที่แตกต่างจากหน้าที่เดิม หัวหน้าต้องวางแผนเพื่อส่งเสริมให้คนทำงานได้ปลดล็อกศักยภาพตัวเอง แม้นั่นอาจจะไม่ใช่สนามที่เราต้องการให้เขาทำเสียทีเดียวก็ตาม ส่วนที่สอง คือ อย่าปล่อยให้ลูกน้องเกิดสุญญากาศทางความคิด หัวหน้าต้องเข้าไปเติมคำแนะนำ ฟีดแบ็กตามความเหมาะสม เพื่อพัฒนาศักยภาพของทีมต่อไป

 

  • สร้างแรงจูงใจในการทำงาน

แรงจูงใจของคนทำงานนั้นรวมทั้งตำแหน่งงาน และผลตอบแทนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน โบนัส หรือสวัสดิการอื่นๆ ที่พึงได้รับ คอยตรวจสอบว่า ปริมาณโหลดงานที่ลูกน้องถืออยู่เหมาะสมกับค่าตอบแทนที่พวกเขาได้รับหรือไม่ หากปล่อยปละละเลยส่วนนี้มากเกินไปอาจทำให้เกิดแรงจูงใจเชิงลบ ที่จะกลายเป็นการ ‘ผลัก’ พนักงานออกไป สูญเสียทั้งพนักงาน ความสามารถในการจัดสรร รวมถึงผลประกอบการของบริษัทด้วย

 

  • หยุด Gaslighting พนักงาน

การทำงานทางไกลหรือ Remote Working ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘Gaslighting’ พนักงานมากขึ้น พูดแบบนี้หลายคนอาจนึกไม่ออกว่า ตนเองเคยถูก Gaslighting จากหัวหน้ามาก่อนไหม แต่นิยามการ Gaslighting ที่เว็บไซต์ฟอร์บส์หมายถึงนั้นอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างการทำงานที่เกิดขึ้นเพียงสั้นๆ แต่สม่ำเสมอก็ได้

 

ยกตัวอย่างเช่น การตอบกลับพนักงานช้ามากๆ ใช้ระยะเวลาหลายชั่วโมงแม้จะเป็นเรื่องเร่งด่วน การไม่ให้เครดิตคนทำงานซึ่งจะมีผลทำให้พนักงานมี Self-esteem ลดลงเพราะไม่ถูกกล่าวถึง มองว่าตนเองไม่มีส่วนร่วมในความสำเร็จ ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดนี้ มีผลต่อการตัดสินใจลาออกของพนักงานทั้งสิ้น

 

  • สร้างความสัมพันธ์ที่ละเอียดลออกับคนทำงานให้มากขึ้น

ผู้นำองค์กรมักโฟกัสที่เป้าหมายหรือผลประกอบการของบริษัทที่มีตัวเลขชัดเจน จนลืมดูแลใส่ใจคนทำงานไปไม่น้อยเหมือนกัน นี่เป็นช่องว่างที่ผู้นำต้องหันกลับมาใส่ใจให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับคนทำงานเจเนอเรชันมิลเลนเนียลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ ‘Mental health’ หรือสุขภาพจิตมาเป็นอันดับต้นๆ