การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปี 2565 ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่ทำให้ภาคธุรกิจเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าได้อย่างเต็มสปีดในปี 2566 เทรนด์ธุรกิจ ที่มีแนวโน้มสดใส และเติบโตแบบก้าวกระโดดมีอะไรบ้างนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมนำเสนอเป็นรายงานพิเศษต้อนรับปี 2566
มิติแห่งสุขภาพเชิงป้องกัน
กระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน หรือ Self-Care กลายเป็นเทรนด์ที่ถูกจับตามองมากที่สุดหลังเกิดโรคอุบัติใหม่ และเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา และเชื่อว่ามิติของการดูแลสุขภาพเหล่านี้จะยังคงต่อเนื่องมายังปี 2566 ซึ่งเกิดจากการสำรวจโดยแมคคินซี แอนด์ คอมพานี (Mckinsey & Company) ทำให้เห็นถึง 6 มิติของการดูแลสุขภาพที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ประกอบด้วย
1. Better Health มีสุขภาพที่ดี เป็นยุคที่ผู้บริโภคสามารถกำหนดเรื่องการดูแลสุขภาพได้ด้วยตัวเอง โดยใช้แอปพลิเคชันเพื่อช่วยในการนัดหมายแพทย์ มีแนวโน้มการสั่งซื้ออุปกรณ์การแพทย์ไปใช้เองที่บ้านมากขึ้น และการเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องรอแพทย์
2. Better Fitness มีสมรรถภาพร่างกายที่ดี คนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ทำให้คอร์สออกกำลังกายออนไลน์และแอปพลิเคชันสุขภาพต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค มีการเติบโตเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมา
3. Better Nutrition มีโภชนาการที่ดี ผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่ไม่เพียงแค่รสชาติดี แต่ต้องดีต่อสุขภาพด้วย ทำให้การใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันด้านโภชนาการ โปรแกรมควบคุมอาหาร และน้ำผลไม้ล้างพิษ ของผู้บริโภค 1 ใน 3 ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง
4. Better Appearance มีรูปลักษณ์ที่ดี ผู้บริโภคยังคงให้ความสนใจกับการดูแลรูปลักษณ์และต้องการนำเสนอความเป็นตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาบริการเสริมความงามในรูปแบบไม่ต้องผ่าตัดอย่างการทำเลเซอร์ได้รับความนิยมอย่างมาก และคาดว่าในปี 2573 จะเกิดบริการด้านความงามที่เพิ่มมากขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ
5. Better Sleep มีการนอนหลับที่ดี ผู้บริโภคทั่วโลกต่างมีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่รองรับการรักษาการนอนหลับ อาทิ แอปพลิเคชันสำหรับติดตามการนอนหลับ เซนเซอร์ที่วางไว้ใต้ที่นอนเพื่อบอกการเคลื่อนไหวขณะนอนหลับ หรือคำนวนเวลาขณะนอนหลับ
6. Better Mindfulness มีสติหรือความสงบทางใจที่ดี จากสถานการณ์ที่ทำให้คนทั่วโลกมีความตึงเครียดมากขึ้น ผลิตภัณฑ์และบริการที่ส่งเสริมความสงบทางใจ จึงได้รับการยอมรับมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันเพื่อฝึกการทำสมาธิหรือบริการเพื่อความผ่อนคลาย กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยม โดยในปี 2573 เทคโนโลยีและอุปกรณ์สวมใส่ที่เชื่อมโยงกับความเครียดจะมีความสำคัญมากขึ้น อย่างคลาสโยคะออนไลน์ อุปกรณ์แจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาสงบนิ่งและทำสมาธิ เป็นต้น
8 เทรนด์ Future Food
เทรนด์อาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food เริ่มเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก่อนเติบโตและเริ่มได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมากขึ้นทั้ง 4 หมวดได้แก่ Functional Food อาหารที่ให้พลังงาน, Novel food อาหารนวัตกรรม, Medical Food อาหารทางการแพทย์ และ Organic Food อาหารอินทรีย์ แต่หากเจาะลึกจะเห็นถึงเทรนด์ของ Future Food ที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมรองรับ ซึ่ง 8 เทรนด์ของ Future Food ได้แก่
1. Immunity Boosting คือ การเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายกลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ร่างกายอ่อนแอ เช่น การรับประทานกิมจิเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร
2. Personalized Nutrition คือ การออกแบบโภชนาการให้เหมาะกับร่างกายของแต่ละคน โดยประเมินจากรูปแบบการใช้ชีวิต สุขภาพ และสารพันธุกรรม เช่น ร้านอาหาร Vita Mojo ใน UK ร่วมมือกับ DNA fit ผู้เชี่ยวชาญด้าน HealthTech นำเทคโนโลยีมาช่วยให้ผู้บริโภค เลือกทานอาหารที่เหมาะสมกับ DNA หรือ ร้านอาหาร Sushi Singularity ในญี่ปุ่น จะส่งชุดตรวจ DNA ให้ลูกค้าหลังการจองอาหาร เพื่อปรับส่วนผสมของซูชิให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากที่สุด
3. Well-Mental Eating คือ การกินเพื่อสุขภาพจิตใจ ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วยสารที่ช่วยลดความเสียหายของอนุมูลอิสระและการอักเสบของสมอง เช่น CBD-Infused อาหารที่ผสมสารสกัดจากกัญชา มีสรรพคุณช่วยให้รู้สึกสงบและลดความวิตกกังวล หรือ Probiotic ที่มักนำมาใช้ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้า
4. Gastronomy Tourism คือ อาหารพื้นบ้าน หรือ อาหารประจำถิ่น โดยการท่องเที่ยวเชิงอาหารนับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเดินทาง นักท่องเที่ยว 53% มักเลือกสถานที่ท่องเที่ยวจากอาหารและเครื่องดื่ม เช่น แกงไตปลา อาหารพื้นบ้านภาคใต้ และ ข้าวซอย อาหารพื้นบ้านภาคเหนือ เป็นต้น
5. Elderly Food คือ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ มีแนวคิดจากการที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงทำให้ตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุมีการเติบโตควบคู่ไปด้วย มีการคาดการณ์ว่าปี 2025 ตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุจะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 25% เช่น 3D Printed Food การขึ้นรูปอาหารที่ช่วยให้กลืนง่ายและย่อยง่าย หรือ Elderly Snack ขนมขบเคี้ยวที่ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
6. Biodiverse Dining คือ การรับประทานอาหารที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะนอกจากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามที่ร่างกายต้องการแล้ว ยังต้องกินอาหารในหมวดหมู่เดียวกันที่มีความแตกต่างทางสายพันธุ์ด้วย เช่น กะหลํ่าปลีและบ๊อกฉ่อย จัดเป็นพืชตระกูลกะหล่ำเหมือนกัน อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัสบำรุงกระดูกเหมือนกัน แต่กะหล่ำปลีมีกรดทาร์มาริก ช่วยยับยั้งไม่ให้น้ำตาลและแป้งกลายเป็นไขมัน
7. Newtrition คือ โภชนาการรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยลดการเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในอนาคต โดยไม่บริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ เลือกบริโภคเฉพาะอาหารที่มาจากผัก ผลไม้ และธัญพืช 100% เช่น Plant Based Meat อาหารโปรตีนทางเลือกที่มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์แต่ไม่ได้ผลิตจากเนื้อสัตว์
8. Food Waste Rescue คือ การแก้ปัญหาขยะอาหาร ซึ่งอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวันกลายเป็นขยะมากถึง 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั่วโลก โดยจะมีอาหาร 30-50% ไม่ถูกรับประทาน คำนวณเป็นมูลค่าแล้วสูญเสียไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
เชื่อว่าเมื่อเห็นเทรนด์ธุรกิจเหล่านี้จะช่วยจุดประกายให้เกิดแนวคิดหรือต่อยอดธุรกิจใหม่ๆได้
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,850 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ. 2566