ระวัง โจรออนไลน์ หลอกแจก “อั่งเปาตรุษจีน"

18 ม.ค. 2566 | 07:13 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2566 | 14:57 น.

ตำรวจเตือน ตรุษจีน ระวังโจรหลอกแจก "อั่งเปาออนไลน์" ห้ามกดลิ้งค์แจ้งแจกอั่งเปาเด็ดขาด พร้อมวิธีแก้ไขถ้าพลาด

เทศกาลตรุษจีน 2566 ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญ ที่ภาคธุรกิจต่างๆ มักทำการตลาดเพื่อส่งเสริมการขาย และมีกิจกรรมมากมายให้กับลูกค้า หนึ่งในกิจกรรมที่มาคู่กับเทศกาลตรุษจีน นั่นก็คือ การแจกอั่งเปา และนั่นอาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพฉวยโอกาส ไปหลอกลวงประชาชน  

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลวันตรุษจีน 2566 ตั้งแต่วันที่ 20-22 มกราคม มิจฉาชีพทำให้เหยื่อหลงเชื่อว่ามีการ “แจกอั่งเปาฟรี” แล้วส่งลิงก์เพื่อให้เรากรอกข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ หรืออาจจะหลอกให้ติดตั้ง แอปรีโมท แล้วทำการดูดเงินในบัญชี 

หลอกแจก อั่งเปาออนไลน์

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ เตือนว่าหากเราได้รับ SMS แจ้งว่าแจกอั่งเปาออนไลน์ ห้ามกดลิงก์โดยเด็ดขาด และห้ามกรอกข้อมูลส่วนตัวใดๆ หรือหากจู่ๆมีรหัสแปลกปลอมแจ้งเข้ามายังโทรศัพท์ ห้ามแจ้งรหัสเหล่านั้นให้ผู้อื่นทราบ

ในกรณีเผลอกดลิงก์ติดตั้งแอปฯแปลกปลอมไปแล้ว ให้รีบลบหรือรีเซต เครื่องใหม่ทันที หากโทรศัพท์ไม่ดับ ให้ทำการเปิดโหมดเครื่องบิน แต่หากเครื่องค้างให้ กดปุ่มเปิด-ปิดแช่ไว้ จะเป็นการตัดสัญญาณโทรศัพท์เครือข่ายอินเทอร์เน็ตทันที 

สามารถขอรับคำปรึกษา หากมีข้อสงสัยได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 และสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com
 

โดยก่อนหน้านี้ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (PCT) ได้รวบรวมกลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์ ไว้ 18 วิธีด้วยกัน

  1. หลอกขายสินค้าออนไลน์ 
  2. หลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์ โดยหลอกเอาเงินที่อ้างว่าเป็นเงินค้ำประกันจากเหยื่อ
  3. เงินกู้ออนไลน์ (เงินกู้ทิพย์) โดยหลอกเอาเงินจากเหยื่อโดยอ้างว่าเพื่อเปิดบัญชีลูกหนี้ หรือค้ำประกัน และหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล
  4. ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว โดยอ้างว่าตนเองคือหน่วยงานรัฐ และแจ้งว่าเหยื่อทำผิดกฎหมาย เพื่อเรียกเอาเงิน
  5. หลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ออมทอง Forex
  6. หลอกให้รักแล้วลงทุน 
  7. หลอกให้รักแล้วโอนเงิน 
  8. ปลอม หรือแฮ็กบัญชี เพื่อหลอกยืมเงิน 
  9. แชร์ลูกโซ่ 
  10. การพนันออนไลน์ 
  11. หลอกให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น แล้วฝังมัลแวร์ ทำให้โทรศัพท์มือถือถูกเข้าถึงข้อมูลทั้งหมด และถูกควบคุมระยะไกล จนเกิดการถอนเงินออกจากบัญชีธนาคาร
  12. หลอกให้ สแกน QR Code โดยอ้างว่าจะคืนค่าสินค้าให้เหยื่อ
  13. ฉ้อโกงโดยแต่งเรื่องราวว่า เหยื่อเป็นผู้โชคดี หรือได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อหลอกให้เหยื่อกดลิงก์ตามที่แนบ
  14. โฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ 
  15. หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย แล้วข่มขู่เรียกทรัพย์ 
  16. ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) 
  17. ส่งต่อข่าวปลอม (Fake News) 
  18. เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ (Ransomware) Lock รหัส Files Folders ในคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เรียกเงินเหยื่อ