อันตรายของซีเซียม 137 สารกัมมันตรังสี เมื่อถูกหลอมจะเกิดอะไรขึ้น

20 มี.ค. 2566 | 01:53 น.
อัปเดตล่าสุด :20 มี.ค. 2566 | 03:55 น.

ข้อกังวลเกี่ยวกับ ซีเซียม 137 สารกัมมันตรังสีที่หายไป หากถูกหลอมจะเกิดอะไรขึ้น ล่าสุดพบเเละคาดว่าหลอมเป็นฝุ่นแดงไปเเล้ว

ความคืบหน้าการตรวจหา สารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 จนพบที่โรงงานหลวงเหล็ก 2 แห่งในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี เจ้าหน้าที่ยืนยันพบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เเละสั่งปิดโรงงาน โดยเตรียมแถลงข่าววันนี้ 20 มี.ค.66 

สำหรับเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ เพราะหากมีผู้สัมผัสอาจเกิดอันตรายได้ มีการตั้งรางวัลนำจับไว้ 50,000 บาท สำหรับผู้ชี้เบาะแสนำไปสู่การติดตามวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 กลับคืนมาได้ 

ข้อกังวลเกี่ยวกับ ซีเซียม 137 สารกัมมันตรังสีที่หายไป โดยมีการตั้งคำถามว่าหากถูกหลอมจะเกิดอะไรขึ้น นพ.สมรส พงศ์ละไม แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ระบุว่า ถ้าซีเซียม 137 ถูกหลอมเผาไหม้และกลายเป็นไอ สามารถออกไปได้เป็น 100-1,000 กิโลเมตรขึ้นกับลม โดยยกเคสที่เคยเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ Chernobyl พบว่า Cesium-137 ปลิวไปถึงสวีเดน 1,000 กิโลเมตร และทำร้ายสิ่งมีชีวิตได้ทั้งการสัมผัสโดยตรง การกิน และการหายใจ

เมื่อซีเซียม 137 ปนเปื้อนในดิน น้ำ อาหาร จะทำให้เกิดผลเสียต่อสัตว์และมนุษย์ โดยอนุภาคบีต้าและรังสีแกมมา จะทำลาย DNA ทำให้เกิด mutation หรือ การกลายพันธฺุ์หรือการผ่าเหล่า ถ้าไม่ตายก็เกิดมะเร็งต่อ โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์

ซีเซียม 137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ดังนั้นจะใช้เวลาในธรรมาชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด คนที่จะได้รับผลกระทบน่าจะหลายแสนและเป็น 100 ปี จะมีคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่เสี่ยง

นพ.สมรส แนะนำว่า รัฐควรเก็บบันทึกข้อมูลอย่างโปร่งใส มีโอกาสที่คนจะสัมผัสปริมาณมาก ยิ่งคนที่อยู่ใกล้ในระยะ 5-10 เมตร น่าจะอันตรายมาก ในขณะที่หาก เสี่ยงต่อการสัมผัส Cesium 137 ควรเฝ้าระวังเร่งด่วน จะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ

ด้าน ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทวิตข้อความระบุว่า ถ้า Cesium-137 ถูกหลอมจะเกิดอะไรขึ้น

1. มีการปนเปื้อนในละอองฝุ่นควันที่เกิดจากการเผาฟุ้งกระจายในบรรยากาศเป็นวงกว้าง

2. มีการปนเปื้อนในเตาหลอม สายพาน ภาชนะรับโลหะหลอม ตลอดระยะสายการผลิต รวมถึงดิน น้ำ รอบโรงงาน 

3. Cesium ปนอยู่ในเนื้อเหล็กที่แปรรูปเป็นเหล็กเส้น เหล็กแผ่น อาจนำไปหลอมต่อเพื่อผลิตในการก่อสร้าง ตึกและสิ่งปลูกสร้างนั้นจะปลดปล่อยรังสีออกมาต่อเนื่อง ใครอยู่ใกล้หรืออาศัยอยู่ในตึกจะรับรังสีเต็ม ๆ

4. การปนเปื้อนจะกระจายออกเป็นวงกว้างตามการนำเหล็กหลอมนั้นไปใช้ 

5. การกำจัดโลหะหลอมที่ปนเปื้อนจะทำได้ยากมากขึ้นตามขนาดและความแพร่หลายของโลหะปนเปื้อนที่ถูกใช้ เช่นตึกที่ใช้โลหะปนเปื้อนทำเหล็กเส้นอาจต้องปิดทั้งอาคารถาวร เหล็กที่อยู่ในโกดังต้องจัดเก็บในที่ปลอดภัยปิดสนิทรอบด้วยผนังตะกั่ว การฝังใต้ดินทำไม่ได้ เสี่ยงต่อน้ำบาดาล/ผิวดินปนเปื้อน 

ข้อมูล : Somros MD Phonglamai , manopsi