21 พฤษภาคม 2566 - กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าทางสังคมอีกครั้ง หลัง "ไอซ์ - รักชนก" ว่าที่ ส.ส. เขต 28 กทม. ของพรรคก้าวไกล เรียกร้อง โรงเรียนใน สังกัด กทม. ยกเว้นการแต่งกาย ชุดลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด โดยชี้ว่า ไม่อยากให้เป็นภาระของพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าว ได้รับการชื่นชมจากชาวโซเซียลอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ภายหลัง ผู้ว่า กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ออกมาให้ข้อความเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ทางกทม.มีนโยบาย ยกเลิกการบังคับนักเรียนใส่ชุด ชุดลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด ตั้งแต่ 13 มกราคมที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งจะมอบหมายให้ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดต่อไป ย้ำ ในกรณี นักเรียนไม่สามารถจัดหาเครื่องแบบได้ ให้ใช้เพียงเครื่องหมายของแต่ละประเภท เช่น การสวมผ้าผูกคอ และ หมวกได้ โดยไม่มีการบังคับ
กระทรวงศึกษาธิการ ย้ำ ไม่บังคับ เครื่องแบบลูกเสือ - เนตรนารี-ยุวกาชาด
ล่าสุดประเด็นดังกล่าว ถูกตอกย้ำความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันโดยกระทรวงศึกษาธิการ ว่า กระทรวงไม่มีการบังคับ การแต่งเครื่องแบบลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด เพื่อลดภาระผู้ปกครอง ตั้งแต่ปี 2565 มาแล้ว
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้ให้โรงเรียนดำเนินการอย่างยืดหยุ่น ไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครอง ไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบครบชุด แต่ขอให้มีสัญลักษณ์เฉพาะบ่งบอกให้รู้ว่าเด็กได้เรียน เช่น มีผ้าผูกคอผืนเดียวได้ เพราะเป้าหมายสำคัญของการเรียนวิชานี้อยู่ที่กิจกรรมจิตอาสา การบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคม การเสียสละ มากกว่าการให้ความสำคัญกับชุดยูนิฟอร์ม และขณะนี้สถานศึกษาหลายแห่งก็ได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอยู่แล้ว
ขณะนี้ได้เปิดภาคเรียนใหม่ ในปีการศึกษา 2566 แล้ว ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งได้รับเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ เงินอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันในอัตราใหม่ที่รัฐบาลได้ปรับเพิ่มขึ้นให้ ดังนั้น ขอให้สถานศึกษาทุกแห่งใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาอย่างคุ้มค่า โปร่งใส่ ตรวจสอบได้ ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการศึกษา การจัดการเรียนการสอน การจัดเมนูอาหารกลางวันให้เด็กได้รับอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ตามช่วงวัย ความปลอดภัยในสถานศึกษา การเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่สำคัญสิ่งใดที่ไม่จำเป็น และจะเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครองขอให้สถานศึกษางด ยกเว้น และยืดหยุ่นให้มากที่สุด
นโยบายศึกษา เน้นกฎระเบียบยืดหยุ่น ตามความเหมาะสม
ที่ผ่านมา ศธ.ได้มีการผ่อนคลายกฎ ระเบียบต่างๆ ให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการศึกษาได้อย่างคล่องตัว สอดรับกับบริบทของพื้นที่ที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน รวมถึงมีการปรับปรุงกฎ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับนักเรียน ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น ไม่บังคับ เช่น เรื่องทรงผมของนักเรียน ก็ได้มีการยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 แล้ว ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดเป็นระเบียบ หรือ ข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง
โดยการออกระเบียบ หรือข้อบังคับต่างๆ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย หรือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามหลักการมีส่วนร่วม เช่น นักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง หรือผู้แทนผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอื่นใดที่หัวหน้าสถานศึกษาเห็นสมควร เป็นต้น และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนก่อนการประกาศใช้