สภาผู้บริโภค เผยภาพรวมปัญหาผู้บริโภคทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2566 ใน 3 ไตรมาส โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลปัญหาผู้บริโภคจากทั้งสำนักงานสภาผู้บริโภค หน่วยงานประจำจังหวัด 15 จังหวัด และองค์กรสมาชิกทั่วประเทศ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 มิถุนายน 2566 สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 13,065 กรณี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภค 34,825,702.45 บาท
สำหรับหมวดปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 7,905 กรณี คิดเป็น 60.51% หรือเกินครึ่งหนึ่งของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด และเป็นด้านที่มีการร้องเรียนสูงที่สุดในทุกไตรมาส
โดยส่วนใหญ่เป็นกรณีบริการบันเทิงของเรื่องสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ในปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงผังคอนเสิร์ต การสมัครสมาชิกแล้วไม่ได้รับสิทธิตามที่ระบุ การจัดงานที่ไม่ตรงตามโฆษณา รวมถึงกรณีโดนหลอกจากการซื้อสินค้าออนไลน์
กรณีที่ผู้บริโภคโดนเอาเปรียบจากการใช้บริการบันเทิง สภาผู้บริโภคได้ติดต่อและประสานงานกับบริษัทที่ถูกร้องเรียน ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและแนวทางการชดเชยเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งการเสนอให้บริษัทออกนโยบายที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
และเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติเรื่องการทำสัญญาระหว่างภาคธุรกิจกับผู้บริโภค ถึงข้อกำหนดสิ่งที่ต้องระบุในสัญญาและสิ่งที่ห้ามระบุในสัญญา ส่วนกรณีซื้อสินค้าออนไลน์ทางสภาผู้บริโภคได้ให้คำปรึกษาผู้บริโภคถึงช่องทางและแนวทางการแจ้งความ รวมถึงช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย
ปัญหาผู้บริโภคที่มีผู้ร้องเรียนมากเป็นอันดับที่ 2 คือด้านการเงินและการธนาคาร จำนวน 1,768 กรณี หรือ 13.53% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นกรณีการทำประกันภัยโควิด – 19 แม้จะเป็นประเด็นมาตั้งแต่ช่วงปี 2565 แต่ในปีงบประมาณ 2566 ยังคงมีผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากการทำประกันโควิด โดยเป็นกรณีการเคลมประกัน แต่ถูกปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทน
สภาผู้บริโภคได้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาให้ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องคดีด้วยตนเอง ในกรณีที่บริษัทฯ ที่ไม่สามารถจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนได้ และเตรียมฟ้องคดีให้กับผู้บริโภค
อันดับที่ 3 ของการร้องเรียน คือปัญหาด้านบริการสุขภาพ จำนวน 1,333 กรณี หรือ 10.20% ส่วนใหญ่เป็นกรณีผู้บริโภคซื้อบริการสุขภาพเป็นคอร์สที่จะได้ใช้บริการตามจำนวนครั้งที่ตกลงไว้ และได้จ่ายค่าบริการล่วงหน้าไปแล้ว ยังใช้บริการไม่ครบตามกำหนด แต่คลินิกปิดให้บริการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และไม่มีการแจ้งรายละเอียด ทางสภาผู้บริโภคได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค
โดยเจรจากับคลินิกให้ผู้บริโภคที่ต้องการใช้บริการต่อหรือยังเหลือคอร์สอยู่สามารถเข้าไปใช้บริการต่อได้ในสาขาอื่น แต่สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใช้บริการต่อแล้ว และต้องการเงินคืน สามารถใช้สิทธิทางศาลต่อสู้และเรียกร้องเงินคืนได้ ซึ่งสภาผู้บริโภคจะเป็นตัวแทนผู้บริโภคในการฟ้องร้องเป็นคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ซึ่งจะมีการนัดหมายเพื่อเตรียมข้อมูลและหลักฐานต่อไป
ส่วนเรื่องร้องเรียนที่เหลือมีทั้งการร้องเรียนปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน รวมถึงเอสเอ็มเอส (SMS) หลอกลวง การร้องเรียนผลิตภัณฑ์ที่ใช้คำอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และยังมีเรื่องรถรับส่งนักเรียนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นต้น