นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีน้ำเสียชุมชนเกิดขึ้นมากกว่า 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ได้รับการบำบัดโดยระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชน 211 แห่ง จำนวน 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และมีแผนที่จะก่อสร้างเพิ่มเติมอีกกว่า 700 แห่ง บำบัดน้ำเสียได้เพิ่มขึ้นอีก 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน น้ำเสียส่วนที่เหลืออีกกว่า 6.6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จะต้องบำบัด ณ แหล่งกำเนิดด้วยถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป
ที่ผ่านมาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปสำหรับอาคารอยู่อาศัย (มอก. 2962-2562) โดยเป็นมาตรฐานประเภทสมัครใจ แต่ยังไม่มีถังบำบัดน้ำเสียที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานนี้
จากการสำรวจผู้บริโภคจะใช้ราคาเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อถังบำบัดน้ำเสีย จากการหารือร่วมกันระหว่าง ผู้ผลิต ผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นว่าควรมีการจัดทำหลักเกณฑ์ “ฉลากถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปที่มีประสิทธิภาพสูง” โดยแสดงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการกำจัดเชื้อโรคในน้ำทิ้ง
ซึ่งประยุกต์มาจาก มอก. 2962-2562 ที่กำหนดเฉพาะประสิทธิภาพการบำบัด มีการแต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญศึกษารูปแบบการตรวจประเมินถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปประสิทธิภาพสูง และเชิญชวนผู้ผลิตถังบำบัดน้ำเสียฯ เข้าร่วมการประเมินประสิทธิภาพถังบำบัดฯ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อการรับรองประสิทธิภาพ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกรมควบคุมมลพิษ จะร่วมกันพัฒนาฉลากถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปประสิทธิภาพสูงให้เป็นที่ยอมรับและนำไปใช้อย่างแพร่หลาย กำหนดให้เป็นบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ตะกร้าเขียว) ของกรมควบคุมมลพิษ
ร่วมกันสร้างกลไกให้ผู้ผลิตนำถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปเข้ารับการรับรองฉลากถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปประสิทธิภาพสูงเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ฉลากถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปประสิทธิภาพสูงให้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรการลดความสกปรกของน้ำเสียชุมชน ณ แหล่งกำเนิด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ของประเทศ