วันที่ 20 กันยายน 2567 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประชุมหารือร่วมกับ เอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ประจำประเทศไทย ประกอบด้วย เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อตอบสนองฉุกเฉินต่อ "ปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำโขง" ซึ่งนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ แสวงหาความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ ที่ได้รับผลกระทบต่อแม่น้ำโขงโดยเร็วที่สุด
ในการหารือ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้กล่าวเน้นย้ำถึงการผลักดันให้ทุกประเทศในอนุภูมิภาคร่วมหาทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในลุ่มน้ำโขงร่วมกันอย่างเร่งด่วน โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เร่งรัดให้มีการติดตั้งโทรมาตรวัดระดับน้ำในแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวกในเมียนมา และขยายความร่วมมือในการติดตั้งโทรมาตรวัดน้ำใน สปป.ลาว ให้ครอบคลุมลำน้ำสาขา (tributaries) มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการเฝ้าระวังและเตือนภัย
รวมทั้งผลักดันให้มีการขุดลอกแม่น้ำสายและจัดการปัญหาการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำสายร่วมกันกับฝ่ายเมียนมาโดยด่วน พร้อมทั้ง เสนอให้ทุกฝ่ายร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน-ฤดูแล้ง ผ่านการใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง อาทิ ACMECS คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) และกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC)
นายมาริษ กล่าวว่า ประเทศไทยพร้อมเป็นหัวหอกในการระดมสรรพกำลังและความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำระหว่างประเทศ โดยจะใช้กรอบความร่วมมือของประเทศในอนุภูมิภาคแอคเมกส์เป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งของแม่น้ำโขงในระยะยาว
รวมถึงใช้กลไกสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงและคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความรู้ด้านวิชาการ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการแม่น้ำโขงร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า การขุดลอกแม่น้ำ การพัฒนาพื้นที่รับน้ำ และโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารจัดการแม่น้ำโขงต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ไทยจะขับเคลื่อนความร่วมมือเรื่องการบริหารจัดการน้ำร่วมกับประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของกรอบ ACMECS ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งกับองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมต่อไป