นายประพิศ จันทร์มา อธิบดี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ปิดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลสู่แม่น้ำปิง พร้อมปิดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำน่าน โดยปิดต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อช่วยลดน้ำเหนือ ที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์
สำหรับการระบายน้ำในครั้งนี้ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,978 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยจะควบคุมให้ไม่เกิน 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่เพิ่มการรับน้ำผ่านระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรับเข้าทุ่งลุ่มต่ำ เป็นการบรรเทาผลกระทบ ที่มีต่อพื้นที่นอกคันกั้นน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
ทั้งนี้นี้ได้จัดชุดเฉพาะกิจร่วมกับโครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันกั้นน้ำชั่วคราวต่าง ๆ หากพบจุดที่อาจมีความเสี่ยงให้เร่งเข้าไปซ่อมแซมให้เร็วที่สุด ทั้งยังเสริมคันดิน พร้อมเตรียมกระสอบทราย เพิ่มความแข็งแรงของคันคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหลากเข้าพื้นที่เสี่ยง
อย่างไรก็ตามการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว ทำให้สามารถควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงจนถึงวันที่ 13 ตุลาคมนี้ และได้เร่งระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาออกอ่าวไทยให้เร็วที่สุด