นายพงษ์กรณ์ ช่อชูวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารระบบความปลอดภัย คุณภาพสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทฯ ได้ติดตามผลกระทบต่อระบบนิเวศน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่น รวมทั้งบูรณาการแผนฟื้นฟูร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้จัดทำแผนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในระยะสั้นเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม – 6 เมษายน 2565 ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำทะเล และตะกอนดิน สำหรับระยะกลางจะใช้เวลา 1-2 ปี โดยจะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องทั้งด้านสมุทรศาสตร์, สารมลพิษ, ระบบนิเวศปะการัง, ระบบนิเวศหญ้าทะเล, ระบบนิเวศหาดหินหาดทราย, สัตว์ทะเลหายาก, ประเมินผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการวางแผนฟื้นฟู และระยะยาวจะศึกษาและฟื้นฟูระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมตามที่เกิดผลกระทบในด้านนั้นๆ ต่อไป
บริษัทฯ ได้ทำการลงพื้นที่เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะแรก ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2565 ถึง 6 เมษายน 2565 พบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คุณภาพน้ำทะเล มีค่าโลหะหนักและปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนเกินเกณฑ์มาตรฐานในช่วงแรก และลดลงจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามลำดับ ส่วนคุณภาพตะกอนดินมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ส่วนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะกลาง บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับคณะทำงานพิจารณาการจัด ทำแผนฟื้นฟู ติดตามตรวจสอบสภาพแวดล้อม และประเมินผลการปฏิบัติงานป้องกันและขจัดมลพิษน้ำมัน กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อส่งน้ำมันของทุ่นรับน้ำมันกลางทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วยกรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดระยอง และคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพา รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลจากประเทศออสเตรเลียร่วมทบทวนโครงการและให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ซึ่งแผนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจะครอบคลุมผลกระทบด้านต่าง ๆ ตามแนวทางของกรมควบคุมมลพิษ โดยพิจารณาพื้นที่ที่น้ำมันเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายหาดและขอบเขตพื้นที่ศึกษา ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาศึกษา 2 ปี ระหว่างเดือนเมษายน 2565 – เมษายน 2567 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 48 ล้านบาท
โดย การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะกลางประกอบด้วย 11 โครงการ ได้แก่
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลในอนาคต บริษัทฯ ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญค้นหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและแนวทางการป้องกันในอนาคต ในส่วนของแผนงานฟื้นฟูด้านสังคมและเศรษฐกิจ บริษัทฯ ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน และกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่มุ่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับรายได้ให้แก่คนในชุมชน โดยการพัฒนาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าประมง จัดกิจกรรมฟื้นฟูเรียกความเชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยว การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจและสัตว์หายาก การสร้างแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำเพื่ออนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในท้องถิ่นเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมกันจัดเก็บขยะและทำความสะอาดชายหาด เพื่อคืนสภาพสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและสวยงามของประเทศไทยให้คงอยู่ตลอดไป