23 ตุลาคม 2565 กระทรวงคมนาคม ได้สรุปรายงานอุทกภัยในเส้นทางคมนาคม โดยพบว่า มีโครงข่ายคมนาคมที่ได้รับผลกระทบ รวม 147 สายทาง 167 แห่ง ผ่านได้ 68 แห่ง ไม่สามารถผ่านได้ 99 แห่ง แบ่งเป็น ถนนทางหลวง ได้รับผลกระทบ 19 สายทาง 28 แห่ง ผ่านได้ 9 แห่ง ไม่สามารถผ่านได้ 19 แห่ง ถนนทางหลวงชนบท ได้รับผลกระทบ 128 สายทาง 139 แห่ง ผ่านได้ 59 แห่ง ไม่สามารถผ่านได้ 80 แห่ง
มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 26 จังหวัด โดยจังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงสุด 3 จังหวัดแรก ได้แก่ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบ 22 แห่ง รองลงมา จ.ศรีสะเกษ ได้รับผลกระทบ 21 แห่ง และ จ.อ่างทอง ได้รับผลกระทบ 18 แห่ง
ขณะที่ท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยายังคงได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินเรือโดยสารของเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือโดยสารไฟฟ้า MINE Smart Ferry จึงต้องปรับตารางเวลาการให้บริการตามสถานการณ์ของระดับน้ำ
ส่วนกรมทางหลง(ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ติดตั้งป้ายเตือน อำนวยความสะดวก และความปลอดภัยแก่ประชาชนในเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ
ด้านกรมเจ้าท่า(จท.) ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย 9 จุด เจ้าหน้าที่ 65 คน เรือ 16 ลำ และรถยนต์/รถบรรทุก 19 คัน ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย รวมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำ/ปริมาณน้ำไหลผ่านของแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และเขื่อนอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ระดมเจ้าหน้าที่ ตลอดจนอาสาสมัคร เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชน โดยกรมขนส่งทางบก (ขบ.) ได้จัดหารถโดยสารประจำทาง และรถโดยสารไม่ประจำทางให้เพียงพอต่อความต้องการ
นอกจากนี้ยังได้สำรวจสภาพการใช้งานของทางหลวง โดยติดตั้งป้ายเตือน อุปกรณ์ความปลอดภัย และอุปกรณ์นำทางในบริเวณสายทางที่ถูกน้ำท่วม และวางกระสอบทรายเป็นแนวกั้นน้ำบริเวณสายทางที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์จนกว่าจะคลี่คลาย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนในเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ
พร้อมกันนี้ยังจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ เพื่อเข้าช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้แก่ประชาชนอย่างทันท่วงที และยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบ อำนวยความสะดวกการเดินทาง และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ