น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ที่นี่มีคำตอบ ทำไมกุมภาพันธ์จึงมี 28 วัน น้อยกว่าเดือนอื่นๆ เกี่ยวข้องอะไรกับจักรพรรดิออกัสตุสแห่งอาณาจักรโรมัน และเดือนสิงหาคมที่มาแย่งวันไป
เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน กำลังจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 และจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีสิทธิ์ที่จะยุบสภาก่อนครบกำหนดได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายประเทศกระทำกัน
จึงมีข่าวลือออกมาเป็นระยะว่า ท่านนายกรัฐมนตรีอาจจะทำการยุบสภาก่อนวันครบวาระดังกล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการพูดว่าเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมเอเปกในช่วงวันที่ 16-18 พฤศจิกายนนี้แล้ว ก็น่าจะเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่อาจจะมีการยุบสภาได้
ข่าวลือหรือการพูดคุยดังกล่าว ไม่เคยออกมาจากปากของนายกรัฐมนตรีเลย แต่ในสังคมการเมืองไทยก็จะมีพูดเรื่องอย่างนี้เป็นระยะ
ในที่สุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีจึงได้ปล่อยมุก ที่ถือว่าเวิร์คและมีผลทางจิตวิทยามาก
โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องการยุบสภา ท่านก็บอกว่านายกรัฐมนตรีเพิ่งพูดว่าจะยุบสภาในวันที่ 31 กุมภาพันธ์
ซึ่งนักข่าวหลายคนยังไม่เก็ท ถามต่อว่า แล้วจะเลือกตั้งวันไหน โดยที่ไม่ทันนึกว่าเดือนกุมภาพันธ์นั้นมีแค่ 28 วัน
ส่งผลทางจิตวิทยา ทำให้ประเด็นของยุบสภาวันไหนนั้น หายไปเลย แต่มาพูดกันถึงว่า 31 กุมภาพันธ์นั้น ไม่มีอยู่จริง คือยังไม่มียุบสภานั่นเอง
วันนี้เราจะมาเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของเดือนกุมภาพันธ์ว่า ทำไมจึงมีวันน้อยกว่าเดือนอื่นๆ ทำไมไม่เป็นเดือนสุดท้ายของปีคือธันวาคม และทำไมทุก 4 ปี จึงต้องมีวันเพิ่มขึ้นมา
ตามประวัติศาสตร์เท่าที่สืบค้นกลับไป พบว่าปฏิทินของโรมันเริ่มต้นด้วยการกำหนดทางจันทรคติคือ การหมุนโคจรของดวงจันทร์ ที่มีข้างขึ้นข้างแรมที่ชัดเจน โดยที่ดวงอาทิตย์จะคงตัวตลอดเวลา
กำหนดให้ปีหนึ่ง มี 10 เดือน เริ่มด้วยเดือนมีนาคมไปจนถึงธันวาคม และในเดือนคี่จะมี 31 วัน เดือนคู่มี 30 วัน
แต่พอถึงสมัยจูเลียส ซีซาร์ พบว่าการกำหนดปีละ 10 เดือนดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับฤดูกาลที่เกิดขึ้นจริง
จึงได้ให้นักดาราศาสตร์ในสมัยนั้น ทำการตรวจสอบคำนวณปฏิทินปีทางสุริยคติขึ้นใช้แทน และพบว่าจำเป็นที่จะต้องมีถึง 12 เดือน หรือปีละ 365 วัน
จึงทำการเพิ่มเดือนอีก 2 เดือนสุดท้ายเติมเข้ามา ได้แก่ เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ เนื่องจากเดิมเริ่มต้นด้วยเดือนมีนาคมถึงธันวาคม
เมื่อเติมลงมาแล้ว ทำให้กุมภาพันธ์จึงกลายเป็นเดือนสุดท้ายของปี เมื่อใช้หลักเดือนคี่สลับเดือนคู่ 31 และ 30 วัน ก็จะทำให้เกินปีละ 365 วัน จึงกำหนดให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันและครบสี่ปีก็จะมี 30 วันหนึ่งครั้ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงในสมัยจักรพรรดิออกัสตัส ซึ่งท่านเป็นเจ้าของชื่อเดือนสิงหาคม (August) ท่านไม่พอพระทัยว่า ทำไมเดือนของท่านซึ่งเป็นลำดับเลขคู่ จึงมีแค่ 30 วัน
ทรงขอให้เพิ่มเป็น 31 วัน โดยดึงวันจากเดือนสุดท้ายคือกุมภาพันธ์มา จึงลดวันจาก 29 วัน ลงไปเหลือ 28 วัน
นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเดือนอื่นๆมี 30 วันบ้าง 31 วันบ้าง แต่กุมภาพันธ์มีเพียง 28 วัน ทั้งที่เป็นเดือนลำดับที่สองในปัจจุบัน เพราะในอดีตเคยเป็นเดือนสุดท้ายของปีมาก่อน เพิ่งมีการขยับเปลี่ยนลำดับภายหลัง
ส่วนเหตุผลที่ว่ากรกฎาคมกับสิงหาคมอยู่ติดกัน ทำไมมี 31 วันติดกันได้ ก็ด้วยเหตุผลของจักรพรรดิออกัสตัสดังกล่าว
และเหตุผลที่ว่า ทำไมทุกๆสี่ปี ถึงจะต้องเพิ่มวันให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน
ก็เนื่องจากว่าเวลาเฉลี่ยหนึ่งปีของการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์จะเท่ากับ 365 เศษหนึ่งส่วนสี่วัน
เมื่อกำหนดให้มีปีละ 365 วัน ก็จะทำให้มีเศษเหลือ เศษหนึ่งส่วนสี่วัน หรือ 6 ชั่วโมง
พอครบสี่ปี เศษดังกล่าวก็รวมกันครบหนึ่งวันพอดี จึงกำหนดให้ทุกๆสี่ปี มีวันเพิ่มขึ้น และวันที่น่าจะเติมให้มากที่สุด ก็คือในเดือนที่มีวันน้อยที่สุด ซึ่งได้แก่กุมภาพันธ์นั่นเอง
จึงกำหนดจาก 28 วัน ให้เป็น 29 วัน ในทุก 4 ปี และเรียกว่าปีอธิกสุรทิน
ดังนั้น การที่รองนายกรัฐมนตรี บอกว่าจะมีการยุบสภาในวันที่ 31 กุมภาพันธ์ จึงเป็นการพูดเล่นหรือเป็นการปล่อยมุก แต่ได้ผลมาก ทำให้ข่าวทางการเมืองไปอยู่ที่เรื่อง 31 กุมภาพันธ์ แทนที่จะมีข่าวว่ายุบสภาเมื่อไหร่